หน้าแรก

ในยุคเกษตรสมัยใหม่ หากมีใครเอ่ยถามชาวไร่ขึ้นมาว่าการทำไร่อ้อยวันนี้ “ยากหรือไม่?” เชื่อว่าคำตอบที่ได้รับคงหลากหลาย โดยเฉพาะชาวไร่ที่ไม่เคยได้สัมผัสกับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาก่อน อาจมองว่าการทำไร่อ้อยนั้นไม่ง่ายเอาเสียเลย แต่สำหรับมิตรชาวไร่แล้ว ไร่อ้อยคงไม่ต่างอะไรจากสนามทดลองให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ และหากยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงทายาทเถ้าแก่ที่โตมากับไร่อ้อยด้วยแล้ว การหันมาจับงานทำไร่อ้อย ประกอบเป็นสัมมาอาชีเลี้ยงตนเองและครอบครัวคง “ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้” อีกต่อไป

คุณมินตรา  กิที หรือ กุ๊กกิ๊ก  สาวน้อยวัย 24 ปี ทายาทสาวของ คุณพ่อประจักร และคุณแม่สุริพร กิที มิตรภูเวียง สังกัดเขตส่งเสริมอ้อยที่ 6 ซึ่งแม้จะสำเร็จการศึกษามาในสายการบัญชี และมีหลายองค์กรต้องการชิงตัวเธอไปร่วมงานด้วย แต่กุ๊กกิ๊กก็ยังเลือกกลับมาช่วยแบ่งเบางานของที่บ้าน เพราะเธอไม่เชื่อว่า การทำไร่อ้อยจะเป็นเรื่องยากเกินตัวของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่โตมาพร้อมกับอ้อยเช่นเธอ ภารกิจ “Impossible I’m possible.” อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ฉันจะทำให้ดู จึงเริ่มต้นขึ้น  

Q : เรียนสาขาอะไรมา

A : “หนูเรียนมาทางด้านการจัดการ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในระหว่างเรียน หนูต้องไปอยู่หอของมหาวิทยาลัย จะกลับบ้านบ้างบางอาทิตย์ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีความคิดว่าจะกลับมาช่วยงานที่บ้านนะคะ เพราะตอนเรียนก็จะทุ่มเทเรื่องเรียนเป็นหลัก อีกทั้งเราก็เรียนมาทางด้านบัญชี มันก็จะมีความยากในเนื้อหาวิชาบัญชีอยู่แล้ว ในใจก็คิดแต่ว่าจะรีบเรียนให้จบและหางานที่ตรงสายทำ ยิ่งตอนที่เรียนปี 1 ปี 2 ตอนนั้นคิดเสมอว่า หลังจากเรียนจบก็อยากได้งานดี ๆ ในบริษัทเอกชนสักแห่งเหมือนอย่างรุ่นพี่คณะ ก็ว่าจะทำบัญชีที่ตรงกับที่เราเรียนไปเรื่อย ๆ ก่อน สักปี สองปี หรือ ถ้าได้งานดีก็จะทำต่อไปทางนั้นเลย ส่วนกิจการของที่บ้านเราเองยังไงก็มีพ่อกับแม่ดูแลอยู่แล้ว ไว้เราเบื่อ ๆ ตอนไหนแล้วค่อยกลับมาทำที่บ้านก็ยังไม่สาย ซึ่งตอนนั้นหนูยังเด็กก็คิดแค่นั้นจริง ๆ”

Impossible-003.jpg

Q : จุดประกายความคิด กลับมาทำงานกับครอบครัว เริ่มขึ้นเมื่อใด

A : “ระหว่างที่เรียน มีบางมุมที่รู้สึกเหงา คิดถึงบ้าน อยากกลับไปอยู่บ้าน เพราะทุกครั้งที่กลับมาบ้านเราจะรู้สึกอบอุ่น อย่างน้อยก็มีพ่อกับแม่คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาเราได้ในทุก ๆ เรื่อง ตอนนั้นเลยเริ่มฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า หรือเราจะกลับมาอยู่ที่บ้านดี ความคิดที่จะกลับมาเป็นชาวไร่เลยผุดขึ้นมา ก็จด ๆ จ้อง ๆ เริ่มดูการทำงานไร่ให้ลึกขึ้น เริ่มเห็นถึงรายละเอียด ซึ่งตอนนั้นเราก็คิดว่าทำไร่นี่มันก็มีความยากซ่อนอยู่เหมือนกัน”

Q : จุดปิ๊งไอเดียหาช่องกลับมาช่วยงานที่บ้านในส่วนงานที่ร่ำเรียนมา

A : “มีวันหนึ่ง หนูกลับมาจากมหาวิทยาลัย พอถึงบ้าน สิ่งที่หนูเห็นคือ แม่เหนื่อยมากไม่ใช่แค่เรื่องรับซื้ออ้อย เพราะไหนจะต้องดูเรื่องคนงาน หาข้าวหาปลาให้เขากิน ซึ่งตรงนี้หนูว่ายุ่งแล้วนะ พอตกค่ำหนูเห็นแม่ต้องมานั่งคิดบัญชี ซึ่งสิ่งที่แม่ทำก็คือจดทุกสิ่งอย่างลงในกระดาษ แล้วก็กดปุ่มบวก ลบ คูณ หาร ธรรมดา ๆ ด้วยเครื่องคิดเลขเครื่องนั้นของแม่ ไม่มีการเก็บข้อมูลใด ๆ เป็นซอฟท์ไฟล์นอกจากกระดาษหนาเป็นตั้ง จึงทำให้หนูคิดได้ว่า ทำไมในเมื่อเราเรียนบัญชีเอกบริหารธุรกิจมา เราไม่กลับมาช่วยงานที่บ้านล่ะ เพราะขนาดแม่ยังทำได้ในแบบของแม่เลย แต่เราเรียนมาโดยตรง ใช้โปรแกรมทำบัญชีต่าง ๆ ที่เรียนมาเอามาช่วยแม่ ก็น่าจะแบ่งเบาภาระงานที่บ้านไปได้มาก นี่จึงเป็นจุดพลิกผันของหนู เป็นตัวจุดประกายความคิดที่สำคัญให้เราอยากกลับมาทำงานที่บ้านเมื่อเรียนจบค่ะ”

Q : ครอบครัวคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ

A : “หนูได้คุยกับคุณพ่อ เลยได้โอกาสถามดูเรื่องงานในไร่ ว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง มันยากมากไหม แล้วพ่อเริ่มต้นอย่างไร พ่อเลยเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า ตอนแรกเราก็เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลยตอนนั้นมีที่อยู่แค่ 7 ไร่ มีรถมอเตอร์ไซด์ 1 คัน รถไถ 1 คัน แล้วคุณพ่อก็ขยับขยายทำมาเรื่อย ๆ พื้นที่ทำไร่เราก็ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบันบ้านหนูมีพื้นที่ทำอ้อยของตัวเองประมาณ 400 ไร่ เห็นจะได้ มีที่เช่าเขาอีกประมาณ 400-500 ไร่ นับรวม ๆ แล้วก็ร่วมพันไร่”

 “หนูว่าที่เราตัดสินใจมาทางนี้ มันน่าจะเป็นเรื่องของความผูกพันกันในทางสายเลือด เป็นสายใยรักในครอบครัว เมื่อถึงเวลาต้องลงมือทำจริงหนูก็ไม่กลัวอะไรเลย ได้ทำงาน มีส่วนร่วม ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น แต่ก่อนที่คิดว่ามันยากก็เพราะเรากลัวไปเอง ซึ่งตอนนี้หนูคิดแต่ว่าเราต้องทำให้ได้ พ่อจะสอนเสมอว่า ไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่คนเราจะทำได้ ยิ่งหนูได้เห็นตัวอย่างความเป็นนักสู้ของพ่อ จากคนไม่มีอะไรเลย ทำจนสามารถเลี้ยงดูลูกได้ขนาดนี้ หนูเลยคิดว่าอะไรที่ว่ายาก เป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องเป็นไปให้ได้ เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขายังทำกันมาได้เลย” กุ๊กกิ๊กกล่าวด้วยความมุ่งมั่น

Impossible-004.jpg

Q : การบริหารจัดการที่ดี อีกแนวทางหนึ่งในการจัดการงานในไร่

A : “ตอนที่เข้ามาทำงานตอนแรก ก็ยากพอสวควร ต้องปรับตัวจากชีวิตนักศึกษา ปุ๊บปั๊บก็ผันตัวมาเป็นคนทำงานเลย แถมเป็นงานไร่ด้วย ช่วงแรกคุณพ่อจะให้หนูทำงานที่ถนัด เรียนรู้ไปแบบไม่ต้องฝืน แต่สุดท้ายก็ไล่ไปเรื่อยจนเรียนรู้ได้ครบทุกอย่าง แต่ไม่ต้องลงมือทำทุกอย่างเน้นให้บริหารจัดการก่อน หน้าที่หลักคืองานด้านบัญชี จากที่คุณแม่เคยจดทุกสิ่งอย่างใส่กระดาษ ใส่บิล คิดเลขด้วยเครื่องคิดเลข หนูก็ย้ายทุกอย่างลงมาอยู่ในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด รวบรวมทุกอย่างทำเป็นซอฟท์ไฟล์ จะคำนวณหาอะไรก็ใช้โปรแกรม มันง่าย ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่สำคัญ ทำให้เรามี Database เก็บไว้อ้างอิงได้ทั้งข้อมูลเก่าใหม่ ที่นำมาใช้ทำอะไรได้อีกหลายต่อหลายอย่าง”

“หนูได้เรียนรู้ทุกอย่างจากพ่อเลยค่ะ วันไหนที่พอมีเวลา หนูจะเข้าไปในไร่กับพ่อ ลงไปดูงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ต่าง ๆ ซึ่งมีไฮไลท์อยู่ที่รถตัดอ้อย คุณพ่อจะสอนตลอดว่า เดี๋ยวนี้การปลูกอ้อยเริ่มมีการปรับระยะร่องให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับการเข้าไปทำงานของรถตัดอ้อย จากเมื่อก่อนที่เคยปลูกอ้อยกันชิดมาก ๆ คือ เว้นระยะห่างแค่ 80 เซนติเมตร เพราะใช้แรงงานคนเดินเข้าไปทำงานได้ แต่ต้องใช้คนเยอะมาก แต่ก็ครึกครื้นดี”

Q : ความรู้สึกหลังจากผันตัวเองมาเป็นชาวไร่อ้อยสมัยใหม่อย่างเต็มตัว

A :  “การได้มาทำงานที่บ้าน ที่ดินของเราเอง ได้เป็นนายตัวเอง ถามว่างานยากไหม ตอนยุ่งมันก็ยาก ยากตรงเราต้องอยู่กับมันเพื่อเรียนรู้ ให้รู้จริง ๆ ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำให้ทันเวลา แต่พอผ่านช่วงยุ่งไปได้ โรงงานปิดหีบแล้ว คราวนี้อยู่บ้านมีเวลาว่างก็เอามานั่งวางแผนคิดทำเรื่องอื่นได้อีกมากเลย อย่างที่หนูบอกไว้แล้วแต่ต้นว่าแม้มันจะยากสักแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรเกินความสามารถของคน ตอนนี้ดีขึ้นจากแต่ก่อนมากค่ะ เพราะว่าแต่ก่อนสมัยพ่อนี่ต้องลงมือทำทุกอย่างเองเลย แต่พอบ้านเรามีรถตัดอ้อย มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็สะดวกสบายขึ้นค่ะ เมื่อก่อนใช้คนตัดอ้อย ค่าแรงก็ต้องจ่าย อาหารการกินก็ต้องทำให้เขากินด้วย ตอนนี้ก็ไม่ต้องหาให้ใครกินแล้ว ประหยัดตรงนี้ไปได้อีก เปลี่ยนไปเป็นค่าน้ำมันแทน ถึงจุดนี้ก็ต้องบอกว่าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริง ๆ หนูมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นค่ะ”

ในอนาคต หากมีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ที่เอื้อให้การทำไร่สมัยใหม่ของเธอง่ายขึ้น เธอก็พร้อมเปิดรับและเรียนรู้ เพื่อให้กิจการงานในไร่อ้อยของเธอนั้นง่ายขึ้นไปอีก เธอเองในฐานะคนรุ่นใหม่จึงฝากมาถึงคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเธอซึ่งเป็นลูกหลานชาวไร่ที่ยังกลัวความลำบากจากการทำไร่มาว่า “คนอื่นอาจมองว่างานไร่ไม่ใช่งานของลูกผู้หญิง ไม่ใช่งานของเด็กสมัยใหม่ เป็นงานของคนรุ่นเก่า แต่ในฐานะที่กิ๊กเข้ามาทำงานในไร่แล้ว อยากจะบอกคนที่ชอบคิดว่าทำไร่ทำนานี่มันร้อนมันเหนื่อยเหลือเกินว่า คิดกันแบบนั้นมันไม่ผิดหรอก พอมาทำจริง ๆ เราก็พบว่ามันเหนื่อยแรก ๆ เท่านั้นแหละ แต่พอเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เราจะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทุ่นแรงเรา มิตรผลก็มาแนะนำอยู่ตลอดเวลา  ที่กิ๊กเลือกจะทำไร่อ้อยต่อไปเรื่อย ๆ นี่ก็เพราะว่าเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ ที่เข้ามา ไม่ใช่แค่เรื่อย ๆ นะ แต่มันเข้ามาอย่างเร็วและแรงด้วย นั่นก็เท่ากับว่างานของเราก็จะง่ายขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าตัว”

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในแบบ Impossible I’m possible โดย “มินตรา  กิที” คนเก่งเกษตรสมัยใหม่ของเรา จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่มิตรชาวไร่รุ่นใหม่ ให้กลับมาสานต่อกิจการของครอบครัว ให้ไร่อ้อยของไทย เป็นไร่อ้อยสมัยใหม่ ส่งออกอ้อยและน้ำตาลโดดเด่นไม่เป็นสองรองใครในโลกได้อย่างแน่นอน

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2

 

ข่าวปักหมุด