หน้าแรก

1. ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ปี 2567 เป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แสดงให้เห็นว่าโลกของเรามี "แนวโน้ม" ที่จะร้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ยากเกินจะคาดเดาได้ของโลก ณ เวลานี้ จากอุณหภูมิโลกเกิดการเปลี่ยนไม่คงที่ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรง เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา น้ำท่วมหนักในรอบ 75 ปี ในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีหิมะตกในทะเลทรายซาอุดีอาระเบีย ภูมิภาคอัล-จอว์ฟ เป็นต้น

โดยในอดีต ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นทุก ๆ 5 ปี และมีปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และในปี 2568 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาอย่างเต็มรูปแบบ อาจส่งผลกระทบในภาพกว้าง ซึ่งจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น 5-10% จากค่าปกติ อยู่ที่ระดับ 1,700-1,800 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการจริง ภาคเกษตรก็อาจจะได้อานิสงค์ทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยตันต่อไร่ปรับสูงขึ้นและมีอ้อยเข้าหีบสูงกว่าปีที่ผ่านมา

2. เทรนด์ผู้บริโภค (Consumer)

  • อาหารเพื่อสุขภาพ

ผู้บริโภคจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและคุณค่าโภชนาการก่อน อาทิ ผู้บริโภคบราซิล 83% ต้องการบริโภคอาหารที่ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ผู้บริโภคอินโดนีเซีย 67% ต้องการทดลองอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคจีน 64% ใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ผู้บริโภคอินเดีย 52% ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย และผู้บริโภคไทย 33% จะใช้จ่ายกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น

  • การผลิตอาหารที่ยั่งยืนและปลอดภัย

ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหมายถึงระบบอาหารที่ไม่เพียงแต่ผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ยังคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับคนรุ่นต่อไป นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องการให้ต่อสังคม ชุมชนมากขึ้น การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความห่วงใยต่อผู้อื่น เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมในชุมชน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของส่วนรวม การให้ความสนใจกับการกระทำ การซื้อสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือสนับสนุนประเด็นทางสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน

  • การตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร

ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหารที่แท้จริง ข้อมูลต้องโปร่งใส จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ที่มีความจริงใจและโปร่งใส ยึดหลักข้อมูลความจริง ต้องการฉลากที่ระบุชัดเจน ต้องมีข้อมูลห่วงโซ่อุปทานข้อมูลที่ละเอียด เช่น มีแหล่งนำมาจากที่ใด วัตถุดิบมาจากที่ไหน โรงงานตั้งอยู่ที่ใด และมีวิธีการกำจัดขยะอย่างไร เป็นต้น

  • ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาหาร

การจัดการ การเตรียม และการเก็บรักษาอาหารในลักษณะที่รับรองว่าอาหารมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค โดยครอบคลุมแนวปฏิบัติและมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งลดความเสี่ยงของการปนเปื้อน การเน่าเสีย และอันตรายอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารได้

  • ความยั่งยืนและมาตรฐานทางจริยธรรม

การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการกระทำที่มีความรับผิดชอบนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ผลิตสินค้าและบริการจึงต้องมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงขอบเขตที่ 3 ด้วย เช่น การพัฒนา การผลิต การจัดหาผลิตภัณฑ์ และบริการจะต้องดำเนินการอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม จริยธรรม และสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และบริการ แผ่ขยายออกไปทั่วทั้งสายโซ่อุปทานทั้งหมด รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ขององค์กร

3. ความยั่งยืน (Sustainability)

การให้ความสำคัญกับทำการทำเกษตรกรรมฟื้นฟู แนวทางสู่การลดมลภาวะในระบบการผลิตอาหาร เป็นวิวัฒนาการของการเกษตรแบบดั้งเดิม ช่วยให้การทำการเกษตรเป็นมิตรต่อธรรมชาติและช่วยให้พืชสามารถปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดี โดยลดการใช้น้ำและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ และป้องกันการเสื่อมโทรมของดินและการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ยังป้องกันและปรับปรุงดิน ถือว่าระบบเกษตรกรรมฟื้นฟูคืออนาคตของภาคเกษตร เช่น การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm) ที่เน้นเรื่องการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้ไร่อ้อยมีสุขภาพดีขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น และประหยัดต้นทุนได้

นอกจากนั้นยังทำให้ดินมีสุขภาพดีขึ้น เพราะใบอ้อยย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินร่วนซุย จุลินทรีย์ในดินเพิ่มขึ้น ช่วยย่อยสลายใบอ้อยและปลดปล่อยธาตุอาหาร ธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น ใบอ้อยมีธาตุอาหารที่อ้อยต้องการ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เมื่อใบย่อยสลาย ธาตุอาหารเหล่านี้จะกลับคืนสู่ดิน ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ใบอ้อยที่คลุมดินยังป้องกันการงอกของวัชพืช ทำให้ช่วยลดการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่ และยังรักษาความชื้นในดิน ช่วยให้สามารถลดการใช้น้ำในการปลูกอ้อย กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนแล้ว ยังสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยต้องเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ อาทิ BONSUCRO และ CBAM รวมไปถึงมาตรการการผลิตที่เป็นไปตามหลัก Green Policy อันจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ Green War และการกีดกันทางการค้าได้ในอนาคต

4. ปัญหาแรงงาน (Labor)

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีผลทำให้เกิดสภาพการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานสำหรับการตัดอ้อย และในบางกรณีที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนอยู่ ก็จำเป็นต้องมีกลไกในการนำแรงงานเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะทำงานในภาคเกษตรกรรม จึงต้องเชื่อมโยงไปสู่การจัดการแปลงพื้นที่ปลูกอ้อยให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการใช้รถตัดอ้อยเพื่อทดแทนการใช้แรงงานคน รวมถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากภาครัฐที่จะประกาศใช้ในปี 2568 ส่งผลต่อค่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย และการจ้างแรงงานจะต้องคำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องวางแผนรับมือ

5. การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและข้อมูลทางเทคโนโลยี (Digital Transformation & Data Technology)

การใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgTech) เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การใช้เซ็นเซอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ (IoT) เช่น ความชื้นในดิน อุณหภูมิ แสงแดด และความเร็วลม ช่วยในการติดตามสภาพแวดล้อมและปรับการจัดการไร่อ้อยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยใช้แผนที่และข้อมูลเชิงพื้นที่ในการวางแผนการเพาะปลูก การจัดการพื้นที่ และการติดตามผลผลิต การนำเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อบริหารจัดการการทำไร่อ้อย ตั้งแต่กระบวนการหาพื้นที่ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งอ้อยเข้าโรงงาน โดยการสร้างเครื่องมือทางด้านดิจิทัลเข้ามาช่วยในการพัฒนาขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ

เครื่องมือสำคัญที่จะกลายเป็นพื้นฐานของการทำการเกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืน

  • การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Used Classification) โดยการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสแกน และสร้างแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เรามีข้อมูลพื้นที่ในภาพใหญ่ ครอบคลุมถึงพื้นที่ในประเทศไทย และยังช่วยสร้างโอกาสในการหาพื้นที่ที่มีดินดี มีแหล่งน้ำ เหมาะสมกับการปลูกอ้อย
  • การติดตามการเจริญเติบโตของอ้อย (Crop Health Monitoring)** เพื่อสามารถที่จะรู้ได้ว่าแปลงอ้อยไหนเติบโตปกติหรือไม่ปกติ เป็นไปตามกรอบการเติบโตที่ควรจะเป็นของอ้อยแปลงนั้นหรือไม่ เพื่อที่จะได้บำรุงรักษาอ้อยได้ถูกที่ถูกเวลา สร้างโอกาสในการได้ผลผลิตที่ดี หรือไม่ให้เกิดความเสียหาย
  • การประเมินผลผลิตที่แม่นยำ (Yield Prediction)** เครื่องมือสำหรับคาดการณ์ปริมาณผลผลิตอ้อยของแต่ละแปลง ทำงานคู่กันกับ Crop Health Monitoring ในการบอกว่าแปลงอ้อยนั้นจะมีผลผลิตเป็นกี่ตันต่อไร่ โดยพิจารณาจากความสมบูรณ์ของพืช ณ เวลานั้น เป็นการวัดผลการทำไร่ สามารถประเมินสถานการณ์เพื่อกลับไปบำรุงรักษา หรือแก้ปัญหาได้ถูกที่ถูกเวลา และยังช่วยทำให้ทราบถึงภาพรวมผลผลิตที่คาดว่าจะได้ ใช้ในการวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • การติดตามการเก็บเกี่ยว (Harvest Monitoring) เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม สามารถติดตามการตัดอ้อยได้แม้จะมีเมฆปกคลุม สามารถทราบผลการตัดอ้อยได้ระหว่าง 3-5 วัน ตามวงโคจรของดาวเทียมที่เราเลือกใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยว และการวางแผนกำลังการผลิตของโรงงาน

ด้วยเครื่องมือเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในการทำไร่อ้อยได้อย่างครอบคลุม และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย และส่งเสริมให้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรของประเทศเจริญก้าวหน้าได้เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับสากล

ที่มาข้อมูล : 

https://www.springnews.co.th/

https://plus.thairath.co.th/

https://mgronline.com/

https://youtu.be/

ข่าวปักหมุด