หน้าแรก

สำหรับพี่น้องมิตรชาวไร่ที่ปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ต้องอ่านเรื่องนี้ เพราะ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม วันนี้มีเรื่องการรับมือกับโรคร้ายที่เกิดกับอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 มาฝากกัน อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 นี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่คนปลูก แทบจะ 80% ของพื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศไทยก็ว่าได้ เหตุผลคือ ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิตสูงถึง 15-20 ตันต่อไร่ ให้ความหวาน 12-14 ซีซีเอส ที่สำคัญคือ ทนแล้ง และไว้ตอดี แต่พอมีพื้นที่ปลูกมาก และปลูกเป็นเวลานาน ก็เกิดการสะสมโรคในท่อนพันธุ์ เช่น โรคใบขาว หรือโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการระบาดเช่น โรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ โรคเน่าคออ้อย และโรคใบจุดวงแหวน เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรคมีรายละเอียด ดังนี้

โรคใบขาว (White leaf disease)

เป็นโรคหลักสำหรับอ้อยในประเทศไทย โดยเฉพาะกับพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตดินทราย มีเพลี้ยจั๊กจั่นเป็นแมลงพาหะ โรคนี้จะติดไปกับท่อนพันธุ์ ซึ่งบางครั้งไม่แสดงอาการ จนกว่าลำที่มีเชื้อจะงอกขึ้นมา และแสดงอาการของโรคใบขาว ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้

แนวทางป้องกันที่มิตรชาวไร่จะทำได้คือ ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคมาปลูก บำรุงรักษาอ้อยให้มีความแข็งแรง  บำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ มีการพักดินและปลูกพืชบำรุงดินเพื่อการตัดวงจรโรค เนื่องจากอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 มีพื้นที่ปลูกมาก และปลูกเป็นระยะเวลานาน จึงมีการสะสมเชื้อโรคในลำอ้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

โรคแส้ดำ (Smut disease)

เชื้อของโรคนี้อาศัยอยู่ในทุกส่วนของพืช ติดอยู่กับตอเก่าในแปลง ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคจะปล่อยผงสปอร์ปลิวติดไปกับลมและฝน นอกจากนั้น เชื้อราจะอาศัยอยู่ในดิน ซึ่งทนอยู่ในเขตแห้งแล้งได้นาน  อ้อยที่ติดโรคจะมีส่วนยอดผิดปกติเป็นก้านแข็งยาวคล้ายแส้สีดำ ตออ้อยที่เป็นโรครุนแรงจะแตกหน่อมาก และแคระแกรนคล้ายตอตะไคร้ ทุกยอดจะสร้างแส้ดำ แล้วแห้งตายทั้งกอ สาเหตุที่เกิดโรคนี้กับอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยพันธุ์นี้มีมาก ทำให้ในบางปีที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือมีความชื้นสูงในพื้นที่ปลูกอ้อย รวมถึงขาดการบำรุงรักษาอ้อย ก็จะทำให้เกิดโรคแส้ดำระบาดได้

แนวทางป้องกันคือ ต้องขุดกออ้อยที่เป็นโรคออกเพื่อทำลายทิ้งให้สิ้นซาก แล้วพักดินปลูกถั่วเพื่อตัดวงจรของโรค

โรคเน่าคออ้อย (Bacteriosis)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะของอ้อยที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะมีใบเหลือง ยอดแห้ง ภายในลำอ้อยเน่าฉ่ำน้ำ จากยอดลงมาด้านล่างของลำ มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เนื้ออ้อยบริเวณยอดเน่าเละ เห็นท่อน้ำท่ออาหารเป็นเส้น  ยอดอ้อยหักพับ ลำอ้อยเปราะ ปล้องอ้อยหลุดจากกันได้ง่าย

โรคนี้พบมากขึ้นในพันธุ์ขอนแก่น 3 ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น พื้นที่ติดภูเขา แนะนำให้ขุดอ้อยที่เป็นโรคไปทำลาย ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และพักดินเพื่อทำลายเชื้อสาเหตุของโรค

โรคใบจุดวงแหวน

อ้อยที่เป็นโรค เริ่มแรกเป็นจุดสีเขียวชุ่มน้ำ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ขอบสีน้ำตาล หรือจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ ตรงกลางมีสีขาว ลักษณะคล้ายรูปไข่ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และมีสีเหลืองล้อมรอบ (halo) เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้น ภายในแผลก็จะแห้ง สีคล้ายฟางข้าว และขอบแผลเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม เมื่อเกิดแผลจำนวนมากติดต่อกัน ใบจะไหม้เป็นบริเวณกว้าง แต่ยังมีขอบล้อมรอบแต่ละแผลอยู่เช่นเดิม พบโรคนี้ในพันธุ์ขอนแก่น 3 ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง พื้นที่ภูเขา  แนวทางแก้ไขคือการพักดินปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อตัดวงจรโรคอีกเช่นกัน

จากภาพรวมพี่น้องมิตรชาวไร่จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันพบการระบาดของ 4 โรคอ้อยนี้ ในพันธุ์ขอนแก่น 3 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวทางป้องกันแก้ไขหลัก ๆ เลยคือ การพักดิน และปลูกพืชบำรุงดินเพื่อตัดวงจรโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสี่เสาพลัสของการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม นอกจากนี้ การปรับสัดส่วนพันธุ์ โดยนำอ้อยพันธุ์ใหม่ มาปลูกทดแทนพันธุ์ขอนแก่น 3 ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงได้ เพียงแค่วางแผน เตรียมการ และลงมือปฏิบัติเราก็สามารถควบคุมปัญหาโรคอ้อยได้ครับ อย่าปล่อยเลยตามเลยโดยไม่จัดการอะไร จนไม่สามารถควบคุมได้ (Out break) ยิ่งจะส่งผลเสียหายและเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมอ้อยของประเทศโดยภาพรวมได้…โอ้ววว รู้แบบนี้แล้วต้องป้องกันกันอย่างรัดกุมเลยนะจ๊ะ

ข่าวปักหมุด