อ้อยก็เหมือนพืชทั่วไปที่ต้องการธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ธาตุอาหาร หลักของอ้อยที่จำเป็นต้องใช้ในการเจริญเติบโตมี 16 ชนิด ส่วนใหญ่อ้อยได้รับธาตุอาหาร
อย่างเพียงพออยู่แล้วจาก อากาศ น้ำ และดิน แต่หลัก ๆ ธาตุอาหารที่อ้อยต้องการเพิ่มเติม เนื่องจากในดินมีไม่เพียงพอ มี 3 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโปแตสเซียม(K)
ไนโตรเจน เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้เกิดการแตกกอ และย่างปล้อง หากอ้อยขาดธาตุตัวนี้จะแสดงอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กลง ลำต้นแคระแกร็น
และให้ผลผลิตต่ำ
ฟอสฟอรัส เป็นธาตุอาหารที่ช่วยให้รากอ้อยเจริญเติบโตเร็วหาอาหารได้เก่ง และทำให้อ้อยแตกหน่อ และงอกได้ดี อ้อยจึงต้องการฟอสฟอรัสตั้งแต่เริ่มปลูก หากอ้อยขาดธาตุตัวนี้ จะทำให้ระบบรากไม่เจริญเติบโต ลำต้นแกร็น ใบเล็ก หรืออาจมีสีผิดปกติ
โปแตสเซียม เป็นธาตุที่ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาล แป้งและโปรตีน ทำให้อ้อยเติบโตเร็ว มีคุณภาพ แข็งแรง ทนแล้ง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อกลไกการสะสมน้ำตาลของอ้อย ทำให้อ้อยหวาน ดังนั้นหากอ้อยขาดธาตุนี้ ลำต้นจะอ่อนแอ ล้มง่าย ไม่ทนแล้ง ผลผลิตต่ำ อ้อยมีคุณภาพต่ำ ลำอ้อยมีไส้กลวงไม่ค่อยมีน้ำตาลสะสมในลำอ้อย ใบแก่ มีสีน้ำตาลไหม้ตามขอบใบ ใบม้วนจากปลายใบหรือขอบใบ
เมื่อรู้จักประโยชน์ของธาตุอาหารทั้ง 3 ชนิดแล้ว อย่าลืมหามาบำรุงอ้อยให้เหมาะสม มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ เพื่อการเจริญเติบโตของอ้อยอย่างมีคุณภาพ