- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- จ., 7 พ.ย. 65
เชื้อเมธาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) คือ เชื้อราชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ลักษณะโดยทั่วไปของเชื้อราเมธาไรเซียม คือ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีสีเขียวหม่น พบทั่วไปในดิน สามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน ทำให้มีระยะการควบคุมได้นาน เป็นเชื้อราที่ไม่มีอันตรายต่อไส้เดือน สัตว์ต่าง ๆ และมนุษย์ อีกทั้งเป็นเชื้อราที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย จึงนิยมนำไปใช้ในรูปแบบของสารชีวินทรีย์ฆ่าแมลง (สารชีวินทรีย์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เช่น ไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในด้านเกษตรและอุตสาหกรรม)
ปัจจุบันมีการนำเชื้อเมธาไรเซียมมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด อย่างกว้างขวาง สามารถทำให้เกิดโรคในแมลงได้หลายชนิด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ปลวก ตั๊กแตน หนอนด้วง หนอนผีเสื้อ มวน และเพลี้ยต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้กำจัดแมลงในดินโดยเฉพาะในกลุ่มหนอนด้วง ป้องกันในระยะไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
เชื้อราเมธาไรเซียมสามารถควบคุมและทำลายแมลงได้โดยเข้าสู่ร่างกายแมลงทางผิวหนัง หรือช่องว่างของลำตัว จากนั้นจะสร้างเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยผนังลำตัวบางส่วน และงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวเข้าไปเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณขึ้น ทำให้แมลงเกิดโรคตายในที่สุด แมลงที่ตายด้วยเชื้อราเมธาไรเซียม จะมีลักษณะลำตัวแข็ง มีเชื้อราขึ้นปกคลุมลำตัวภายนอกเป็นสีเขียว
เชื้อราเมธาไรเซียมสามารถอยู่ได้ในที่แห้ง อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศา แต่ระยะเวลาในการทำลายจะเร็วหรือช้า ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้น มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแสงแดดมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราเพราะรังสียูวี นอกจากนี้ ความรุนแรงของเชื้อ จะรุนแรงมากหรือน้อย ยังขึ้นกับลักษณะพันธุกรรมของเชื้อ ความแข็งแรง หรือภูมิต้านทานของแมลงอีกด้วย
หลักการสำคัญ คือ เชื้อหรือสปอร์ต้องสัมผัสถูกตัวแมลงจึงจะสามารถเข้าไปในตัวแมลงและทำลายแมลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนอนด้วงหนวดยาว ด้วงแรด และปลวก ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน จึงต้องหาวิธีที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของแมลงและสภาพพื้นที่ปลูกอ้อย สำหรับวิธีการที่ใช้เพื่อป้องกันในปัจจุบัน ได้แก่
จากข้อมูลนี้แล้วทำให้เห็นว่า เชื้อรา ไม่ใช่ตัวเชื้อโรคที่น่ารังเกียจเสมอไป เพราะยังมีเชื้อราตัวดี ที่มีประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยอย่างเจ้า เมธาไรเซียม อยู่นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดขอนแก่น / ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี / ศูนย์วิจัยเอสวีกรุ๊ป