หน้าแรก

การดำเนินกิจกรรมของชาวเกษตรทฤษฎีใหม่มิตรภูหลวง จังหวัดเลย เริ่มจากการเรียนรู้แนวคิดทฤษฎี และองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการพึ่งตนเอง โดย อ.เฉลิมชัย อินทรชัยศรี ปราชญ์เกษตรจังหวัดเลยที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นผู้เริ่มต้นในการถ่ายทอด กระทั่งต่อยอดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายในสมาชิก เช่น การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การเพาะเห็ด การตอนกิ่งพันธุ์ไม้ ทำเตาเผาถ่านและทำน้ำส้มควันไม้ เป็นต้น

โดยนำมาถ่ายทอดแก่มิตรชาวไร่ภูหลวง ซึ่งหลังจากเรียนรู้ร่วมกัน สมาชิกได้นำกลับไปปฏิบัติที่แปลงของตนเอง แล้วนำมาสรุปแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จกันในทุก ๆ เดือน และเมื่อผ่านไป 1 ปี ปรากฏว่าพี่น้องชาวเกษตรทฤษฎีใหม่มิตรภูหลวงมีความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย  สามารถลดรายจ่าย เฉลี่ยถึงครอบครัวละ 20,000บาท/ปี ทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตจากแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ครอบครัวละ 13,000บาท/ปี

5-ปัจจัย-004.jpg

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานครั้งนี้สำเร็จ ได้แก่

  1. แนวคิด ต้องเข้าใจจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ต้องทำเพื่อพึ่งตนเองก่อน ไม่ใช่ลงทุนทำเพื่อขาย การทำต้องมีเวลาดูและเอาใจใส่อย่างประณีตและทำตามกำลังที่มี
  2. สถานที่ ภายในแปลงต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ทั้งเพื่อใช้ในการเกษตรและปศุสัตว์ มีการวางแผนจัดรูปแปลงที่เหมาะสม (พิมพ์เขียว) รวมถึงถ้ามีที่พักอาศัยและไฟฟ้าภายในแปลงจะดีมาก
  3. ประสบการณ์ ในที่นี้หมายถึงการไปเรียนรู้มาแล้วต้องปฏิบัติฝึกฝน ลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดความชำนาญและเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำอยู่
  4. ความหลากหลาย จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยง เช่น มีพันธุ์พืชหลากหลาย ทั้งไม้ยืน ต้นพืชอายุยาว พืชอายุสั้น มีปศุสัตว์ ประมง มีการพึ่งตนเองบ้าง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ อาหารสัตว์ทำเอง เป็นต้น
  5. การจัดการผลผลิตและต่อยอด แบ่งเป็น 4 ระดับได้แก่

ระดับที่ 1 บริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ ลดรายจ่ายในครัวเรือนได้จริง สามารถแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านได้

ระดับที่ 2 ขายในหมู่บ้าน ตลาดชุมชนใกล้เคียง หรือส่งพ่อค้าแม่ค้าที่มารับ เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ระดับที่ 3 ได้รับรองมาตรฐาน มีตลาดประจำของตนเองหรือทำตลาดขายเอง มีการแปรรูปสินค้าออกสู่ตลาดได้

ระดับที่ 4 พัฒนาจุดเด่นมีองค์ความรู้ฐานเรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอด สร้างภาคีเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชนทั้งในด้านการสนับสนุนและการตลาด ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้

ครอบครัวสมาชิกจะประเมินตนเองว่าอยู่ในระดับไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความต้องการของแต่ละครอบครัว ปัจจุบันมีชาวไร่เกษตรทฤษฎีใหม่มิตรภูหลวงที่เข้าร่วมโครงการปีที่ 1 จำนวน 40 ครอบครัว ยังคงติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น โดยมีการยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้จำนวน12 ศูนย์ในปี 2561 กระจายอยู่ตามพื้นที่ 18 เขตส่งเสริมอ้อยมิตรภูหลวงเพื่อเป็นต้นแบบการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้พี่น้องชาวไร่ที่สนใจ รวมทั้งรอรับการมาเยือนของสมาชิกครอบครัวชาวทฤษฎีใหม่มิตรภูหลวงในปีที่ 2 อีกกว่า 100 ครอบครัว

5-ปัจจัย-003.jpg

ข่าวปักหมุด