นี่คือการกระทำที่เกิดขึ้นจริงของพ่อนิรัญดร บงแก้ว วัย 54 ปี กับแม่สำราญ บงแก้ว วัย 51 ปี สองสามีภรรยาแห่งบ้านหินเกิ้ง ตำบลโคกขมิ้น อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อดีตชาวนาที่ปลูกข้าวมาเกือบครึ่งค่อนชีวิต แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหลังเจอปัญหาภัยแล้ง มีเพียงมอเตอร์ไซด์รุ่นเก๋า รถไถเดินตาม และผืนนาที่แห้งแล้ง
พ่อนิรัญดร กับแม่สำราญเล่าว่า “ทำนาตั้งแต่จำความได้ มือนึงแบกคันไถ อีกมือจูงควาย เจอแต่ปัญหา แห้งแล้ง ขาดทุน จนกระทั่งเพื่อนบ้านที่ปลูกอ้อยเอ่ยปากชวน เลยตัดสินใจลองสละที่นา 4 ไร่ เพื่อปลูกอ้อยครั้งแรกในชีวิต ปรากฏว่า อ้อยที่ปลูก ขายง่าย เห็นเป็นเงิน หลังจากนั้นก็ทยอยรื้อคันนาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น”
“แต่ก่อนเราทำเองด้วยแรงสองคนทุกอย่าง ขึ้นอ้อย โยนอ้อย ขับรถ ไปส่งอ้อย จากแค่มีมอเตอร์ไซด์กับรถไถพัง ๆ เราค่อย ๆ โตขึ้น เริ่มมี 6 ล้อ 10 ล้อ จนปัจจุบันมีรถพ่วง เราแค่ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลยตั้งใจทำทุกขั้นตอน ใส่ใจดูแลอ้อยอย่างดี แล้วอ้อยก็ทำให้เราส่งลูกเรียนจบปริญญาทั้ง 2 คน อีกคนก็กำลังต่อโท ส่วนอีกคนมาช่วยงานที่ไร่”
ไม่ใช่ว่าการทำไร่อ้อยของสองสามีภรรยาคู่นี้จะราบรื่นทุกขั้นตอน แม่สำราญยังเล่าถึงประสบการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจนเกือบจะพังทลาย แต่ด้วยสองมือและกำลังใจของคนทั้งคู่ ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้ “มีอยู่ปีนึงน้ำท่วมไร่อ้อย อ้อยที่ปลูกไว้แช่น้ำนานป็นเดือน พ่อกับแม่กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดว่ายังไงอ้อยก็คงไม่รอด แต่ก็ชวนกันไปขุดอ้อยขึ้นมาจากโคลน ใช้มือเปล่านี่แหละขุด ก้ม ๆ เงย ๆ กันทั้งวัน เอาอ้อยขึ้นมาพักรอน้ำแห้งแล้วค่อยไปถมใหม่ ตอนนั้นยังไม่มีรถ เดินเอาจอบกลบทีละแถว จนเสร็จ สุดท้ายอ้อยก็งอกขึ้นมาได้ ยิ้มออกเต็มที่เลย”
นอกจากกำลังใจที่พร้อมฮึดสู้ด้วยกันแล้ว คู่รักนักสู้คู่นี้ ยังมีมิตรแท้อย่างมิตรผล ที่คอยเคียงบ่าเคียงไหล่มาตั้งแต่ต้น เข้ามาช่วยดูแล ให้คำแนะนำทุกขั้นตอน จนขึ้นแท่น “เพื่อนแท้” ของมิตรชาวไร่คู่นี้เลยทีเดียว
“ขอบคุณมิตรผลมากที่ดูแลเราอย่างดีมาตั้งแต่แรก พนักงานที่ภูเขียวเข้ามาช่วยแนะนำทุกอย่าง ทุกวันนี้ก็แนะนำเรื่องการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม พ่อก็ได้ไปอบรม และเริ่มนำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในไร่อ้อยของพ่อเอง ทุกวันนี้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย เจ้าหน้าที่เข้ามาวัดพื้นที่ในไร่ ก็ใช้ระบบ GPS มาจัดการ” พ่อนิรัญดรกล่าว
แม่สำราญยังเล่าถึงผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงภายหลังเริ่มเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มว่า เมื่อปลูกตามระยะห่างที่มิตรผลแนะนำ ทำให้อ้อยมีระยะเติบโตที่เมาะสม อ้อยลำใหญ่ เข้าบำรุงรักษาง่าย และประหยัดค่าตัดด้วย
“ตอนนี้เรายังไม่มีรถตัด ยังใช้คนงานตัดอ้อยเหมือนเดิม แม่ยอมรับว่ายังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะลงทุนกับรถตัด กลัวจะเป็นหนี้ แต่แม่ก็เห็นประโยชน์ของรถตัดนะ อนาคตน่าจะใช้แน่นอน ค่อยเป็นค่อยไปก่อน อาจจะรวมกลุ่มกับชาวไร่คนอื่นแล้วแลกเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือกัน” แม่สำราญกล่าว
จากความมุมานะเพื่อเอาชนะความยากลำบาก เป็นแรงผลักดันชั้นเยี่ยมสร้างกำลังใจให้ทั้งสองท่านแข็งแกร่งและฝ่าฟันอุปสรรคมาได้จนประสบความสุข ความสำเร็จเช่นนี้ ทั้งสองได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความสุขจากการได้ลงมือทำตามความหวังมันยิ่งใหญ่เพียงใด จากจุดเล็ก ๆ ที่ทั้งสองกล้าตัดสินใจเลือกอาชีพชาวไร่อ้อย จนตอนนี้พ่อนิรัญดรให้คำมั่นไว้ว่า ไม่มีอาชีพใดที่จะเป็นหลักให้แก่ครอบครัวเท่ากับการปลูกอ้อยอีกแล้ว
จากจุดเริ่มต้นปลูกอ้อย 4 ไร่ สู่เถ้าแก่ไร่อ้อย 400 ไร่
จากชาวไร่ที่ขายแค่อ้อยพันธุ์ พลิกผันสู่การเหมาแปลง
จากคนขายฝากรวมโควต้าคนอื่น สู่เจ้าของโควต้า 23,000 ตันต่อปี
และนี่คือ นิรัญดร-สำราญ บงแก้ว ผู้ไม่มีความรู้เรื่องอ้อย แต่อยากหลุดพ้นความแร้นแค้น เปิดใจรับ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ สู่การลงมือทำเพื่อพุ่งชนเป้าหมาย อนาคต โควต้า 30,000 ตันต่อไร่ คงไม่ไกลเกินเอื้อม.