- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- ศ., 13 พ.ย. 63
หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 5 ฉบับ ลงวันที่ 5เมษายน 2562 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศคือตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าวกำหนดให้ เกษตรกรผู้ใช้สารและผู้รับจ้างพ่นสาร จะต้องผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมี 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบในการอบรม คือ
1.กรมส่งเสริมการเกษตร อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
2.การยางแห่งประเทศไทย อบรมและทดสอบให้กับเกษตรผู้ปลูกยางพารา
3.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
4.กรมวิชาการเกษตร อบรมเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงานดังกล่าวข้างบน เพื่อให้เป็นวิทยากรไปอบรมเกษตรกร และเป็นผู้อบรมให้กับผู้รับจ้างพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอบต.
ทั้งนี้พี่น้องเกษตรกรที่มีความประสงค์จะใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร ให้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อแจ้งข้อมูล พร้อมกับสมัครขอรับสิทธิ์ซื้อ 3 สาร ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยจะต้องผ่านการอบรม และผ่านการทดสอบความรู้ เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตามหลักของประกาศฯ
สำหรับการสมัครขอรับสิทธิ์ซื้อ 3 สาร สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป ที่ “ระบบจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด” http://chem.doae.go.th หรือ แอปพลิเคชั่น “FARMBOOK” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งแอนดรอย์ และ iOS ได้ทันที หรือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง โดยสามารถเลือกช่องทางเรียนรู้ได้ 3 ช่องทาง คือ
ช่องทางแรก เข้ารับการอบรมโดยวิทยากร ครู ข ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
ช่องทางที่ 2 เรียนรู้ผ่านระบบ E-learning โดยเรียนจากเว็บไซต์ http://elearning.doae.go.th มีทั้งหมด 9 ตอน ใช้เวลาประมาณ 60 นาที
ช่องทางที่ 3 สมัครเข้ารับการทดสอบได้เลยจากเว็บไซต์ดังกล่าว โดยต้องเลือกสถานที่สอบ วันที่และช่วงเวลาที่ต้องการสอบได้ตามความสมัครใจ
ทั้งนี้สำหรับการทดสอบจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.2562 เป็นต้นไป กรณีไม่ผ่านการทดสอบ สามารถเลือกสอบได้อีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่าน เกษตรกรจะต้องสมัครเข้าไปเลือกการทดสอบอีกครั้งในระบบ.
ขอบคุณที่มา https://www.moac.go.th/news-preview-411391791098