- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- พ., 12 ก.ย. 61
อ้อยตอ คือ กำไร ยิ่งไว้ตอได้เยอะ ยิ่งกำไร ผลผลิตอ้อยตอจะสูงหรือต่ำ ไว้ตอได้หลายปีหรือไม่ ส่วนหนึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากอ้อยปลูก เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดิน การเตรียมดิน การใช้พันธุ์อ้อย การปลูก เปอร์เซ็นต์การงอก การดูแลรักษาโรคและแมลงศัตรูอ้อย ฯลฯ กล่าวคือ ก่อนการปลูกอ้อย ต้องการปรับพื้นที่ไม่ให้มีน้ำท่วมขัง มีการปรับปรุงดิน มีการเตรียมดินที่ดี ใช้พันธุ์อ้อยสมบูรณ์ ปลอดโรคและแมลงศัตรูอ้อย หลักจากปลูกแล้วต้องมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง มีการใส่ปุ๋ยตามสูตร และอัตราที่เหมาะสม ในช่วงเก็บเกี่ยว รถตัดอ้อยและรถบินไม่เหยียบตออ้อย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้อ้อยตอที่เกิดใหม่สมบูรณ์อย่างแน่นอน สำหรับอ้อยตอปีต่อ ๆ ไปก็เช่นเดียวกัน หากมิตรชาวไร่ บำรุงรักษาดีก็สามารถไว้ตอได้หลายปี โดยผลผลิตอ้อยยังคงสูงอยู่
การจัดการอ้อยตอเพื่อเพิ่มผลผลิต (Cane Ratooning Jobs) หนึ่งในสูตรลับการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่จะไม่ลับอีกต่อไป คือการไว้ใบคลุมดิน ปริมาณใบอ้อย เพียง 1-2.5 ตันต่อไร่ เป็นทั้งแหล่งอินทรียวัตถุขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับคุณประโยชน์มากมาย เช่น ปรับปรุงสุขภาพดิน ทำให้ อุณหภูมิในดินเย็นลง เก็บรักษาความชื้นในดิน และช่วยให้น้ำฝน หรือน้ำชลประทานไหลซึมลงดินได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาวัชพืชตัวปัญหา โดยจะคลุมไม่ให้เมล็ดวัชพืชงอกได้ มากไปกว่านั้นยังช่วยให้สิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อย เช่น ไส้เดือน ตัวห้ำ ตัวเบียน สามารถมีที่อยู่อาศัยดำรงชีพเพิ่มจำนวนประชากรรักษาสมดุลควบคุมศัตรูพืช นอกจากนี้ในใบอ้อยยังมีธาตุอาหารมากมาย หากใบอ้อยถูกเผา ธาตุอาหารเหล่านั้นจะสูญเสียไปในอากาศ ในทางกลับกัน หากเราตัดอ้อยสดไว้ใบอ้อยคลุมดิน ธาตุอาหารก็หมุนเวียนกลับสู่ดิน ซึ่งอ้อยจะสามารถนำไปใช้ได้ ถือเป็นการบำรุงดินทางหนึ่งได้อีกด้วย
การใส่ปุ๋ยอ้อยตอก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อมิตรชาวไร่ ควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจากคู่มือคำแนะนำการใส่ปุ๋ยเพื่อเลือกใช้สูตรปุ๋ยที่ถูกชนิด ถูกอัตรา ตรงตามความต้องการของอ้อย อ้อยตอมีความต้องการปุ๋ยไนโตรเจนมากกว่าอ้อยปลูก โดยใช้สูตรเดียวกับอ้อยปลูกแล้วเพิ่มไนโตรเจนอีก 25 เปอร์เซ็นต์และให้แบ่งการใส่ปุ๋ยออกเป็น 2-3 ช่วง เช่นเดียวกับอ้อยปลูกใหม่ เน้นสูตรปุ๋ย 21-7-18 ทั้งนี้ต้องใส่ปุ๋ยหลังตัดภายใน 7-10 วัน โดยใส่ปุ๋ยฝังกลบจำนวน 1 กระสอบ หรือ 50 กิโลกรัมต่อไร่และให้น้ำตามทันที และ นอกจากการใส่ปุ๋ยหลังตัดทันทีแล้ว ควรมีการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าอีก 1-2 ครั้ง โดยใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน เน้นไนโตรเจน และโพแทสเซียม เช่น สูตร 21-7-18, 27-7-7 และ 15-5-20
การให้น้ำเป็นหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ การให้น้ำแก่อ้อยที่ถูกต้องตามความต้องการของอ้อยนั้นปริมาณน้ำ ระยะเวลาการให้น้ำ ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพของดิน
อ้อยตอดินทราย ความสามารถทางกายภาพในการดูดซับน้ำได้น้อยกว่าดินเหนียว แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยด ควรให้น้ำบ่อยครั้งกว่าดินเหนียว
อ้อยตอดินเหนียว ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพของดินแล้วจะมีความสามารถในการซับน้ำ และมีความชื้นมากกว่าดินทราย
ในการให้น้ำครั้งที่ 1 จะให้น้ำทันทีหลังตัดอ้อยเสร็จ เพื่อกระตุ้นการงอกทุกตอ โดยจะให้น้ำวันละ 6-8 ชั่วโมง จากนั้นจึงย้ายไปให้น้ำตอแปลงใหม่ที่เพิ่งตัดเสร็จต่อไป และการให้น้ำครั้งที่ 2 ควรให้หลังจากการให้น้ำครั้งแรก 15-20 วัน โดยดูค่าความชื้นในดินจากเครื่องเทนซิโอมิเตอร์ (Tensiometer) วัดความชื้นในดินว่ามีอยู่ในปริมาณที่อ้อยนำไปใช้ได้หรือไม่ และอาจจะต้องให้น้ำถึง 4-6 ครั้ง โดยครั้งที่ 3-6 ควรให้น้ำห่างกันทุก 15-20 วัน
มิตรชาวไร่เห็นมั้ยว่าการจัดการอ้อยตอเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ๆ นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด การดูแลรักษาอ้อยตอนั้น สำคัญเพียงแค่เราดูแลเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดวัชพืช เป็นต้น ทั้งนี้หากเราดำเนินการให้ทันท่วงที ถูกช่วง ถูกเวลา ผลผลิตอ้อยตอที่ได้สูงแน่นอนค่ะ