หน้าแรก

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อน ส่งผลให้ร่างกายต้องปรับสมดุลให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ นั่นหมายถึงร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น อวัยวะบางส่วนก็อ่อนแรงลงตามสภาพอุณหภูมิ

วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีเคล็ดลับการดูแลสุขภาพในหน้าร้อนมาฝากมิตรชาวไร่ ให้เป็นแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ดังนี้

เคล็ดลับ-003.jpg

  1. ไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด หลายคนคงมีพฤติกรรมไม่ต่างกันคือ เมื่อมีความรู้สึกร้อนมาก ๆ อยากดื่มน้ำหรือกินอาหารเย็น ๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่น แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มน้ำที่เย็นจัด หรือผลไม้ที่แช่แข็ง เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารน้ำเย็นปริมาณมากจะไปเจือจางน้ำย่อย และมีผลให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อยลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพการย่อยอาหารลดลง ก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบได้ง่ายคนที่เป็นโรคกระเพาะและเป็นแผลอักเสบอยู่แล้วก็จะกำเริบได้ง่ายด้วย
  2. ดื่มเครื่องดื่มที่เหมาะสมในหน้าร้อน อากาศร้อน ๆ แบบนี้จะทำกิจกรรมอะไรมักมีเหงื่อออกปริมาณมาก การทดแทนน้ำในร่างกายที่เสียไปที่ดีที่สุด คือ การดื่มน้ำสะอาด หรือถ้าจะเสริมปรุงแต่งด้วยน้ำตาล เกลือ หรือสมุนไพรอื่น ๆ ก็สามารถเลือกได้ตามความชอบและความเหมาะสม เช่น การดื่มชาร้อน น้ำเก๊กฮวย หรือน้ำบ๊วย เพื่อช่วยลดความร้อนของหัว ใจ (การไหลเวียนเลือด) ทำให้ตาสว่าง เพิ่มน้ำในร่างกาย บำรุงตับ บำรุงไต เจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหาร การเติมน้ำตาลและเกลือในปริมาณที่พอเหมาะในเครื่องดื่มต่าง ๆ จะช่วยเสริมพลังและป้องกันการสูญเสียเกลือโซเดียมของร่างกายได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือใช้แรงงานมาก
  3. ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรก ความร้อนจากลมแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับตากลมในขณะเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิผิวของร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สดชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้ การใช้พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศไม่ควรให้กระทบโดยตรงกับร่างกายนาน ๆ คนที่อยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาออกจากห้องต้องระวังการปรับตัวกับอากาศที่ร้อนภายนอก เพราะการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รวดเร็วจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
  4. การนอนและการพักผ่อน โดยธรรมชาติของฤดูร้อน กลางวันจะยาว กลางคืนจะสั้น กว่าอากาศจะเย็นสบายให้นอนหลับได้ก็มักจะดึก ตอนเช้าตรู่ท้องฟ้าก็สว่างเร็ว ทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าที่เคยเป็น หน้าร้อนเราจะนอนได้น้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันอุณหภูมิในตอนกลางวันจะทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เหนื่อยง่าย เพราะมีเลือดไหลเวียนมาที่ผิวกายมากกว่าปกติ แต่ไปเลี้ยงสมองหรือไป ที่ระบบการย่อยอาหารน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกง่วงได้ง่าย
    เพราะฉะนั้นการได้พักผ่อนนอนหลับในช่วงกลางวันบ้าง จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ท่าที่นอนควรเป็นท่านอนราบหรือนอนตะแคง ห้ามนอนคว่ำ หรือนอนฟุบบนโต๊ะทำงาน เพราะจะกดท้อง กดทรวงอก กระทบการหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวจึงผ่อนคลายไม่เต็มที่ แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในที่ทำงานคงนอนกลางวันไม่สะดวก อาจใช้วิธีนั่งพิงพนักตัวตรง หลับตา สงบนิ่ง ในช่วงกลางวัน ก็เป็นการพักผ่อนอีกวิธีได้
  5. อาหาร ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกหิว การปฏิบัติตัวสำหรับการกินอาหารที่เหมาะสมในหน้าร้อนนั้น พอสรุปได้ ดังนี้

เคล็ดลับ-004.jpg

มื้อเช้า ตอนตื่นนอน ท้องจะว่างเนื่องจากกระเพาะอาหารพร่อง ควรเริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อน ๆ เพราะในหน้าร้อน ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากความร้อนทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำให้สูญเสียน้ำ การทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหารลดลง จึงยิ่งต้องถนอมการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่จะย่อยสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกาย อาหารเช้าที่แนะนำ ควรเป็น ข้าวต้ม ผสมถั่วเขียว, เมล็ดบัว หรือรากบัว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยขับความร้อน เสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม

ควรกินผลไม้ที่แพทย์แผนจีนถือว่ามีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน เพิ่มน้ำในร่างกาย ผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงกวา, แตงโม, แตงไทย, มังคุด, สับปะรด, สาลี่ เป็นต้น เหมาะสำหรับ กินแก้กระหายและขับร้อนในร่างกาย แต่ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน หรือขณะที่ท้องว่างหรือเวลาหิวจัด

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า ความรู้จากบทความนี้จะช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงของพี่น้องมิตรชาวไร่ ให้สุขสดใสในช่วงฤดูร้อนนี้ได้ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือเรื่องอาหาร เพราะเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องกิน ดื่ม เข้าไป หน้าร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ดังนั้นมิตรชาวไร่ควรจะระมัดระวังเรื่องการกิน ควรกินอาหารที่ทำสุกใหม่ ๆ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในครอบครัว

ขอบคุณที่มา:

https://www.thaihealth.or.th/
https://www.medicalnewstoday.com/
https://us.cnn.com/
https://www.koolkiwis.com/

ข่าวปักหมุด