หน้าแรก

เส้นทางชีวิตของเกษตรกรแต่ละคนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางคนมีพื้นที่ทำกินมากมาย แต่ไม่สามารถหาประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้นได้ สำหรับบางคนแทบไม่มีที่ทำมาหากิน มีเพียงแรงกายแรงใจที่จะต่อสู้เพื่อไปให้ถึงฝัน ด้วยคำว่า “มุ่งมั่น ขยัน อดทน” ทำให้เกษตรกรมือสมัครเล่นในวันนั้น สู่เถ้าแก่ไร่อ้อยโควต้าสี่หมื่นตันในวันนี้

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอแนะนำคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ แม่ประนอม ภูมิประสาท มิตรชาวไร่วัย 73 ปี เขตส่งเสริมอ้อยที่ 5 บ้านนาคำน้อย ตำบลพรสวรรค์ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เริ่มต้นปลูกอ้อยกับสามีเพียง 2 คน ตามคำชวนของเพื่อนบ้าน ทิ้งอาชีพค้าขายในจังหวัดชลบุรี มุ่งสู่แดนดินอีสานด้วยเงินทุนพอประมาณ เพื่อเช่าที่ปลูกอ้อย เป้าหมายคือ “ลองทำดูก่อน ถ้าไม่โอเคค่อยกลับบ้านเรา”

จากประสบการณ์ปลูกอ้อยที่พอมีติดตัว บวกกับความขยัน อดทน สองสามีภรรยาปลูกอ้อย 100 ไร่แรกของชีวิตด้วยผลประกอบการ เสมอตัว ไม่มีกำไร ไม่ขาดทุน เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2-3 เริ่มมีกำไรให้เห็นบ้าง

เมื่อโรงงานมิตรผลมาซื้อพันธุ์อ้อยจากแม่ประนอม ทำให้เริ่มมีเงินขึ้นมาเรื่อย ๆ มีกำลังใจสู้กับการปลูกอ้อยต่อ เมื่อมีเงินจึงเริ่มขยับขยายพื้นที่ และจ้างแรงงานมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ประนอม-003.jpg

นอกจากนี้แม่ประนอมยังได้เปิดใจรับคำแนะนำจากโรงงานเรื่องการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม มาปรับใช้ในพื้นที่แปลงอ้อยหลายพันไร่ของครอบครัว เพื่อให้สอดรับกับเติบโตของเทคโนโลยี และปูทางการทำงานในไร่แบบโมเดิร์นฟาร์มให้ลูกหลานได้สบายในภายหน้าหากต้องมาสานต่อ

“สิ่งที่แม่เปลี่ยนแปลงอย่างแรกคือ ปรับระยะห่างของแปลงให้รองรับเครื่องจักร ทั้งรถตัด แบล๊คโฮ รถไถ ที่จะเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในไร่ จะฉีดยา ดูแลหญ้า หรือตัดอ้อย รถวิ่งเข้าไปทำงานได้หมด แม่ลงทุนกับเครื่องจักรหลายอย่าง มีทั้งรถตัด รถแบล๊คโฮ รถไถ รถพ่วง ปิคอัพมีหมด อะไรที่จะช่วยเสริมงานในไร่เรามีพร้อม ช่วงแรกแม่ก็กังวลว่า มาปรับระยะให้ห่างกว่าเดิม มันจะไหวไหม เสียดายพื้นที่ แต่ผลปรากฏว่า ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิม อ้อยลำใหญ่สมบูรณ์ขึ้น เพราะเขามีพื้นที่ให้เติบโต ที่สำคัญเครื่องจักรเข้าทำงานง่าย ลดต้นทุนเรื่องคนงาน ใช้แรงงานน้อยลง ทำไร่สบายขึ้นมาก”

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดจากแนวคิดการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม ที่แม่ประนอมนำมาใช้ในแปลงอ้อยคือ การพักดินปลูกพืชตระกูลถั่ว แม่ประนอมให้ข้อคิดกับเรื่องนี้ว่า

“เราใช้ประโยชน์จากพื้นที่มานาน ปลูกอ้อยได้เงินเลี้ยงดูครอบครัวก็เพราะดิน เราต้องดูแลดินตอบแทนบ้าง เพราะการปลูกอ้อยต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่พักดินเลย จะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ด้วยความที่แม่มีพื้นที่เยอะ แม่ก็จะสลับพื้นที่กัน แปลงนี้ปลูกอ้อย แปลงนี้พักดิน สลับกันไปมา โดยหลักแม่จะปลูกปอเทือง เพราะปอเทืองพอปลูกเสร็จ ถึงเวลาก็ไถกลบเป็นปุ๋ยคืนอินทรียวัตถุให้ดินได้เลย ปลูกถั่วบางทีเราไม่มีเวลามาดูแล ต้องเก็บขายด้วย อีกย่างต้นทุนสูงกว่าปอเทือง เลยไม่ปลูกถั่ว เรื่องจะปลูกอะไรช่วงพักดินก็แล้วแต่คนว่าถนัดอันไหนมากกว่า บางทีมีเพื่อนบ้านมาขอปลูกแตงโม แม่ก็ให้เขาปลูก เขาเก็บผลผลิตไปขาย เราก็ได้เถาแตงโมไถกลบคืนธาตุอาหารให้ดิน”

ประนอม-004.jpg

ผลจากการพักดินปลูกปอเทืองของแม่ประนอม ทำให้อ้อยเจริญเติบโตดีกว่าเดิม นั่นหมายถึงคุณภาพของดินดีขึ้น เนื่องจากปอเทือง ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว มีแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินให้กับอ้อยที่จะปลูก จึงเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยวิธีธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมี เพราะการปลูกปอเทืองของแม่ประนอมช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืชได้

ด้วยความขยัน มุ่งมั่นของแม่ประนอม จากไร่อ้อยเพียงน้อยนิดในอดีต สู่พื้นที่หลายพันไร่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าการบริหารจัดการไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่แม่ประนอมมีหลักในการทำงานที่จะช่วยให้ทำไร่ได้อย่างสมดุลง่าย ๆ คือ การวางแผน

“การทำไร่อ้อยเราต้องมีความตั้งใจ ต้องวางแผนงานให้ดี เวลานี้เราควรทำอะไร ก็ต้องทำตามเวลา ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะอ้อยมีระยะการเจริญเติบโตตามช่วงอายุ ช่วงไหนต้องจัดการหญ้า จัดการแมลง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ต้องวางแผนให้ดี และลงมือทำตามแผน เหนื่อยได้ ท้อได้ พอพักให้หายเหนื่อยก็มาลุยต่อ เพราะนี่คืออาชีพของเรา ตอนนี้แม่อายุมากขึ้นแล้ว ก็ทยอยสอนงานในไร่ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ มาแบ่งเบาต่อจากแม่ เพราะสุดท้ายแล้วที่เราทำมาทุกอย่างก็เพื่อลูกหลาน ให้เขาได้สบาย อยู่ได้ ทำได้ โดยไม่มีเรา ทำอ้อยทำไม่ยากหรอก อยู่ที่ความตั้งใจมีหรือเปล่า แค่นั้นเอง”

ท้ายที่สุดนี้ หลักคิดสู่ความสำเร็จของแม่ประนอม ภูมิประสาท คือการวางแผน และทำตามแผน ควบรวมกับขยัน อดทน ทำให้คนแปลกถิ่นที่เข้ามาบุกเบิกการทำไร่อ้อยในพื้นที่หนองพอกยุคแรก กลายเป็นคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ต้นแบบมิตรชาวไร่ที่ประสบความสำเร็จอีกคนของมิตรผลในวันนี้อย่างเต็มภาคภูมิ.

ข่าวปักหมุด