หน้าแรก

การทำไร่อ้อย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษาและสั่งสมองค์ความรู้ ทั้งจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และการเข้าร่วมการอบรมต่าง ๆ ผนวกกับการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาจริงในไร่ จนเกิดความเชี่ยวชาญ สำหรับชีวิตชาวไร่อ้อยเอง คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากความรู้และประสบการณ์อันมีค่าไม่ได้รับการสืบทอดและสูญหายไป

แต่เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนสำหรับ คุณถวิล เพียโคตร มิตรชาวไร่ผู้มีประสบการณ์ทำไร่อ้อยมากว่า 14 ปี ที่ปัจจุบันได้เริ่มถ่ายทอดวิชาการทำไร่อ้อยให้กับสองบุตรสาวทายาทชาวไร่ คุณโบ-รัชดาพร เพียโคตร และคุณกวาง-อทิตยา เพียโคตร จากวิศวกรและนักบัญชี สู่ชีวิตการเป็นชาวไร่อ้อย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

 เลือกอ้อยเพราะต้องการแบ่งเบา

“การเลือก” เกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อถวิล ถามถึงทางเลือกของคุณโบ และคุณกวาง ระหว่างทำงานในบริษัทเอกชน ตามสายงานที่ร่ำเรียนมา หรือกลับมาสานต่องานในไร่ของครอบครัว ซึ่งหากทั้งสองเลือกการทำงานกับบริษัท พ่อถวิลจะวางแผนลดพื้นที่ทำไร่อ้อยลง เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจทำให้รับผิดชอบไม่ไหว น่ายินดีที่คำตอบของลูกสาวคนโตอย่างคุณโบ คือ ต้องการเข้ามาช่วยงานที่บ้าน เพื่อจะได้อยู่ดูแลพ่อแม่

“เราอยู่ไหนก็ได้ถ้าพ่อแม่เราสบาย และได้อยู่ด้วยกัน สามารถดูแลท่านได้ในเวลาเจ็บป่วย หากไปทำงานบริษัท ส่งเงินมาให้พ่อแม่ก็จริง แต่ไม่มีใครสามารถพาท่านไปหาหมอหรือดูแลยามเจ็บป่วยได้” คุณโบกล่าว

รัชดาพร-003.jpg

อีกทั้งการรีบตัดสินใจกลับมาสืบทอดกิจการที่บ้านทันทีหลังศึกษาจบระดับอุดมศึกษา ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คุณโบบอกว่า “มาทำตอนนี้ ขณะที่พ่อแม่ยังสอนงานเราได้ ดีกว่ามารับช่วงต่อตอนเราอายุมากแล้ว เพราะจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย จู่ ๆ จะไปสั่งคนงานทำนู่นทำนี่ แต่เราทำไม่เป็น คงไม่ได้ และถึงตอนนั้นให้พ่อแม่มาสอนก็คงหมดแรงแล้ว”

คุณกวางเสริมต่อถึงการเข้ามาทำงานในไร่ช่วงแรกว่า “ตอนพ่อสอนใหม่ ๆ นี่ยากค่ะ ดุด้วย แต่ดุเพราะอยากให้เป็นนะคะ ส่วนมากกวางจะตามพี่โบค่ะ แล้วทำด้วยกัน พวกเครื่องมือกลไกบางอย่างก็ไม่เข้าใจ เราเรียนบัญชีมาด้วยก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ แต่พอได้เรียนรู้ไป นานวันเข้าก็คุ้นชิน สามารถทำตามได้”

นับเป็นโชคดีที่ในวัยเด็ก ทายาททั้งสองช่วยพ่อกับแม่ทำไร่มาเสมอ ทำให้คุณโบ คุณกวาง สามารถเรียนรู้งานได้อย่างรวดเร็ว รับผิดชอบงานได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบัญชีการเงิน กิจกรรมการจัดการบำรุงรักษา วางระบบการให้น้ำอ้อย ขับรถไถเข้าร่องอ้อย พรวนกำจัดวัชพืช ลงริปเปอร์ใส่ปุ๋ย ขับรถแทรกเตอร์พ่วงสาลี่ ไปจนถึงขับรถกระเช้าเทียบรับอ้อยรถตัดด้วยตัวเอง

ทั้งโบและกวางต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่หวั่นกับการเรียนรู้งานจากพ่อและแม่ เพราะพวกเธออยากจะเรียนรู้และสืบทอดงานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ว่าจะหนักขนาดไหน พวกเธอก็จะไม่ท้อ “อยากทำได้ทุกอย่าง ผู้ชายทำได้เราก็ต้องทำได้ รถต้องขับเป็นทุกคัน พยายามขับ คันไหนที่ขับไม่เป็นก็ขึ้นไปหัด ขับเองหมดเลย อยากขับเป็นทุกคันค่ะ” โบพูดด้วยความมุ่งมั่น

เติมเต็มส่วนที่ขาด

จากความเชี่ยวชาญในทุกเรื่องของคุณพ่อที่แสดงให้เห็นมาโดยตลอด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกสาวทั้งสองตั้งใจเดินตามรอยของพ่อ โบบอกว่า “เราทึ่งที่พ่อเราสามารถทำได้ทุกอย่าง เช่น เวลารถเสีย เราโทรมาบอกพ่อว่ารถมีอาการแบบนี้ พ่อจะรู้ทันทีว่าเป็นอะไร เราทึ่งมาก อยากทำให้ได้เหมือนพ่อ บางเรื่องเกิดจากประสบการณ์ การแก้ปัญหาอะไหล่ต่าง ๆ พ่อจัดการและแนะนำได้ทันที”

ถึงแม้คุณพ่อจะเป็นผู้ที่สัพพัญญูรอบรู้เกือบทุกเรื่อง ก็ยังมีเรื่องที่ไม่ถนัดเช่นกัน นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งในส่วนนี้ลูกสาวทั้งสองก็เข้ามามีส่วนช่วยพัฒนา นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ภายในไร่ ทั้งการนำโซลาร์เซลล์มาใช้เป็นแหล่งพลังขับของเครื่องสูบน้ำ แทนการใช้รถไถมาปั่นเป็นต้นกำลัง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมัน ซึ่งตัวโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานถึง 20 ปี เมื่อคำนวนถึงค่าน้ำมันในแต่ละปีที่มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น เปรียบเทียบกันแล้วการใช้โซลาร์เซลล์คุ้มค่ากว่ามาก

นอกจากนี้โบและกวางยังนำเทคโนโลยี GPS เข้ามาใช้เป็นตัวช่วยลดปัญหาการควบคุมรถและเครื่องจักร โดยนำไปติดที่เครื่องจักรทุกคันในไร่ “เรารู้ว่ารถเราอยู่ไหน หรือว่าคนขับรถอู้ ทิ้งเครื่องแล้วนอนมั้ย เพราะว่าถ้าแค่ถามเฉย ๆ ก็ไม่รู้หรอกค่ะ ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้สตาร์ทนอน อะไรแบบนี้ เราก็ต้องเชื่อเขาเพราะเราไม่มีหลักฐาน แต่ถ้าเราติด GPS เราก็จะเปิดดูได้ว่าทำไมสตาร์ทเครื่องไว้ รถเป็นอะไรรึเปล่า เราก็จะโทรเช็คได้” กวางบอกถึงวิธีแก้ปัญหา ให้คนงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากเรื่องเครื่องจักรแล้ว การทำบัญชีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยคุณพ่อถวิลจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกสาวเรื่องการจัดเก็บข้อมูลและทำบัญชี การวางระบบฐานข้อมูลพื้นที่แปลงอ้อย โดยยึดต้นแบบจากโรงงาน คุณพ่อบอกว่า “อย่างพวกบัญชีจะทำอย่างไร ทำแบบไหนเราก็แนะนำเขาให้แยกทำบัญชีคนงาน คนนี้เบิกเงินเดือนเท่าไหร่ มาทำงานกี่วัน รายได้เท่าไหร่ มีทำล่วงเวลามั้ย อะไรประมาณนี้ แล้วก็ทำให้เขาสำรวจพื้นที่ ทำข้อมูลของพื้นที่แปลงอ้อย ทำเหมือนโรงงานน้ำตาลเขาทำนะ หาข้อมูล มีข้อมูลแปลง แปลงนี้อ้อยปลูกใหม่ แปลงนี้อ้อยตอ 1 อ้อยตอ 2 ตอ 3 ตัดแปลงนี้ได้กี่ตัน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้ปุ๋ยกี่กระสอบ ฉีดยากี่ครั้ง กี่รอบ ประมาณนั้น”

แต่การทำบัญชีนั้นใช่ว่าโบและกวางจะเป็นฝ่ายรับความรู้อยู่ถ่ายเดียว เพราะด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่อาจไม่สันทัดการใช้เทคโนโลยีมากนัก เมื่อลูกสาวทั้งสองเข้ามาช่วยดูแล การทำบัญชีที่จดด้วยมือ ก็เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ง่าย ข้อมูลไม่สูญหาย สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว คุณพ่อยังบอกถึงที่มาของการทำฐานข้อมูลว่า “เห็นโรงงานเขาทำแบบนี้แล้วเราก็อยากรู้ด้วย อยากมีข้อมูลด้วย เราจะได้วางแผนถูก มันจะง่ายขึ้น ถ้าให้พ่อทำเองมันทำรายละเอียดไม่ได้ ทำไม่ไหว ไหนจะวางแผน ไหนจะต้องมาคีย์ข้อมูล ก็ให้ลูกสาวมาทำตรงนี้”

พ่อถวิลบอกว่าการทำบัญชีไร่อ้อยส่งผลดีอย่างมาก เพราะทำให้เห็นค่าใช้จ่ายต้นทุนที่เสียไปในแต่ละปี “เราจะได้รู้ เอามาเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายลดลง คือ เน้นอยากจะลดค่าใช้จ่าย เพราะเราไม่สามารถจะไปเพิ่มราคาอ้อยเองได้ เราทำได้ก็คือลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เราทำได้แค่นั้น ราคาอ้อยจะถูกจะแพงเราก็ต้องขาย”

เป้าหมายในการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตนี่เองที่เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจซื้อรถตัดอ้อย ตัวช่วยที่สามารถลดจำนวนแรงงานคนจาก 40 คน เหลือเพียง 10 คน ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดต้นทุน และยังเป็นการประหยัดเวลา ทำให้สามารถตัดอ้อยเข้าหีบได้ทันเวลา ส่งผลให้สามารถขยายพื้นที่ทำไร่ เพิ่มปริมาณอ้อยที่ปลูกได้เป็นอย่างดี การหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น ทำให้พ่อถวิลบอกว่าสามารถลดต้นทุนไปได้กว่า 70% และในปัจจุบันเครื่องจักรทั้งหมดที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อก็มี รถตัด 1 คัน รถกระเช้า 1 คัน แทรคเตอร์ 105, 90, 24, 21 แรงม้า อย่างละ 1 คัน รถกล่อง 2 คัน รถพ่วง 2 คัน เครื่องปลูก 1 คัน และยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงจำพวก พรวน (ผาน 20 จาน) โรตารี่ ผานสับใบ เครื่องใส่ปุ๋ย ริปเปอร์ สับซอย (24 แรงม้า) และบูมสเปรย์ (ขนาด 8 หัว) อีกด้วย

นอกจากนี้เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มเติม จึงมีการนำเครื่องอัดใบอ้อยจากโรงงานมาใช้ตั้งแต่ประมาณ 2 ปีที่แล้ว นำใบอ้อยไปขายเป็นรายได้เสริม “ก็ได้เงินประมาณ 350 บาทต่อตัน ปีนี้ขายได้ 70,000 บาทแล้ว แต่ไม่ได้ขายทั้งหมดนะ ขายเฉพาะที่ลุ่ม ที่ลุ่มมันไว้ใบไม่ได้ เวลาหน้าฝน ความชื้นมันเยอะเกิน อ้อยมันตาย มันจะเกิดเชื้อราด้วย เหลือไว้แค่ประมาณ 10-20% แต่ที่ดอนเนี่ย ไม่เอาใบออกเลยดีมาก เอามาคลุมดินดีมากเหมือนที่มิตรผลเขาสื่อสารออกมา พอเวลาหน้าฝนมา ใบอ้อยก็ย่อยสลาย ดีกว่าเผาใบทิ้งเป็นไหน ๆ เสียดายมากเลยเมื่อก่อนเราไม่รู้ ก็เผาเงินทิ้ง” คุณพ่อบอกด้วยสีหน้าที่แสดงความเสียดายและกล่าวย้ำอีกว่า “ลองคิด ๆ ดูมันตั้งสามร้อยกว่าบาทต่อตันนะ เผาทิ้ง เสียดายมาก ถ้าตอนนั้นเรารู้ เราจะไม่เผา เพราะมันเป็นเงิน ดังนั้นเราก็ต้องหาวิธีที่ทำยังไงเราจะไม่ต้องเผาเงินเราทิ้ง”

รัชดาพร-004.jpg

เปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่า

จากการค่อย ๆ พัฒนาจากยุคของคุณพ่อสู่ยุคของลูกสาวสองคน ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับความรู้ของเดิมที่มีอยู่ของคุณพ่อ ซึ่งในปัจจุบันนี้ทั้งคู่มีพื้นที่ไร่อ้อยที่อยู่ในการดูแล 800 กว่าไร่ เป็นพื้นที่สำหรับรถตัดไปแล้วกว่า 90% โดยแผนในอนาคตข้างหน้าได้คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี จะเปลี่ยนเป็นแปลงแบบ Mitr Phol ModernFarm ได้ครบ 100 %

สำหรับชาวไร่ท่านอื่นคุณพ่อถวิลให้คำแนะนำว่า “พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มันเยอะ ๆ แล้วก็ทำให้มันเต็มที่ วางแผน ไม่ใช่ทำแบบโบราณ ไม่ยอมพัฒนา เราก็ต้องมองไปข้างหน้าด้วย แรงงานคนเดี๋ยวนี้มันหายาก ต้องเตรียมพื้นที่รถตัด แล้วก็ใช้ระบบน้ำหยด มันประหยัดน้ำ มันไม่มีอะไรมากในการทำไร่อ้อย ต้องตั้งใจ พร้อมเปลี่ยนแปลง ปัญหาส่วนมากมันจะมีตอนที่เราตัดไปขาย ปัญหาเยอะ ใช้แรงงานคนเนี่ย ตอนปลูกตอนบำรุงรักษามันไปเรื่อย ๆ เราคิดยังไง เราทำยังไง ก็ได้ตามความคิดของเรานะ อยากจะทำแบบนี้อยากจะใช้วิธีนี้มันทำได้ แต่เวลาตัด เราคิดอยากจะตัดอ้อยสดมันไม่ได้ เขาไม่ตัดให้ เขาต้องเผา จะมาเผาเงินเราทิ้ง คิดดู เราทำแทบตาย เขามาเผาเงินเราไปแล้ว เสียดายครับ” การเผาเงินในที่นี้เนื่องมาจากราคาของการขายอ้อยเผานั้นน้อยกว่าอ้อยสด ยิ่งเป็นปริมาณมากจะยิ่งเห็นถึงความต่างของรายได้ที่ได้จากการขายอ้อย อีกทั้งอ้อยไฟไหม้ยังมีค่าความหวานและน้ำหนักที่น้อยลง ซึ่งขัดกับหลักการของคุณพ่อที่เน้นลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นอย่างมาก

สุดท้าย คุณโบ ทายาทชาวไร่อ้อยตัวจริง ทำจริง ฝากข้อคิดสั้น ๆ ว่า “ไม่มีอะไรยาก ถ้าเราจะคิดจะทำ”

แน่นอนว่า หากเราได้เรียนรู้และลองทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจที่สานต่อกิจการของครอบครัว มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่าความสำเร็จของความตั้งใจนั้น ไม่เกินเอื้อมแน่นอน.

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด