พี่น้องมิตรชาวไร่คะ เคยสงสัยกันไหมคะว่า ในแต่ละฤดูกาลอะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ร้อน หนาว หรือฝนตก ที่ผ่านมาเรามักได้ยินตามข่าวถึงลมมรสุมนู่นนี่นั่นพาดพาดประเทศไทยบ้าง ผ่านเพื่อนบ้านแล้วส่งผลกระทบต่อไทยบ้าง ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราไม่เคยรู้จริง ๆ ว่า สาเหตุหรือปัจจัยที่มีผลต่อดินฟ้าอากาศมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะฤดูฝน ที่ทำให้มีฝนตกตลอดทั้งฤดูกาล
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจึงไปหาข้อมูลเพื่อหาคำตอบมาให้มิตรชาวไร่ ทราบว่าตัวการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีฝนชุกในช่วงฤดูฝน คือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ ร่องมรสุม สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้น จะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม
โดยลมตัวนี้มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกใต้บริเวณมหาสมุทรอินเดีย โดยจะนำมวลความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดผ่านทะเลอันดามันเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนชุก โดยเฉพาะบริเวณตามชายฝั่งทะเลและเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าพื้นที่อื่น
ส่วนอีกตัวการคือ ร่องมรสุม หรือเรียกอีกอย่างว่าร่องความกดอากาศต่ำนั้น เมื่อพาดผ่านไปพื้นที่ไหนบริเวณนั้นจะมีฝนตก โดยปกติจะเคลื่อนมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเดือนมิถุนายนจะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ แล้วก็จะเคลื่อนขึ้นไปทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนามช่วงเดือนกรกฎาคม ทำให้ช่วงเวลานั้นบ้านเราฝนจะน้อยหรือเป็นช่วงที่เรียกว่าฝนทิ้งช่วง จากนั้นในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคมร่องมรสุมก็จะเคลื่อนกลับลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง
หรือถ้าหากในช่วงที่มีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาบริเวณทะเลจีนใต้ ร่องมรสุมนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นทางเดินให้พายุเคลื่อนเข้าสู่บ้านเรามาตามแนวร่องมรสุมด้วย ซึ่งหลังจากนี้ไปบ้านเราก็จะได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 ตัวการนี้มากขึ้น ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะมีฝนชุกนั่นเองค่ะ
มาถึงบางอ้อก็คราวนี้เองจริงไหมคะ เอาเป็นว่า จะมรสุม หรือร่องมรสุมที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเกิดฝนก็ตาม การติดตามข้อมูลข่าวสารด้านดินฟ้าอากาศอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้พี่น้องมิตรชาวไร่วางแผนกิจกรรมในไร่ได้อย่างรัดกุม และป้องกันไม่ให้พืชผลทางการเกษตรของเราได้รับผลกระทบจากดินฟ้าอากาศ รวมถึงการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ด้วยค่ะ
ที่มาข้อมูล-ภาพ