- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- อ., 9 ต.ค. 61
“สูตรลับโมเดิร์นฟาร์ม” คือ หนึ่งในองค์ความรู้ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่มิตรผลได้ค้นคว้าจนค้นพบวิธีการปลูกอ้อยด้วยความรู้และเทคโนโลยีระดับเวิล์ดคลาส เพื่อเป็นฐานแห่งความสำเร็จ ที่จะพาเกษตรกรในยุคประเทศไทย 4.0 ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
หลักสี่เสาพลัส เปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่ต้องมีเสาที่มั่นคง เป็นหลักให้กับส่วนที่เหลือของบ้าน ถ้าเสามั่นคงบ้านก็แข็งแรง แต่ถ้าเสาต้นใดต้นหนึ่งเกิดล้ม บ้านจะสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะเสาทั้งสี่ต้นต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จะขาดต้นใดต้นหนึ่งไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งหลักสี่เสาพลัสมีดังนี้
เสา 1 พักดินปลูกถั่ว Legume Rotation Crops
การปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดินจะทำให้เกิดการสะสมโรคแมลงศัตรูอ้อย จึงควรพักดินและปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากพืชตระกูลถั่ว มีแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินให้กับอ้อยในอนาคต จึงเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยวิธีธรรมชาติ อีกทั้ง ยังเป็นการลดใช้สารเคมี นอกจากนี้ การปลูกพืชตระกูลถั่วในช่วงพักดินยังช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตอีกทางหนึ่งได้
เสา 2 ควบคุมแนวล้อวิ่ง Controlled Traffic
สร้างแนวเบดฟอร์ม (Bed Form) ด้วยเครื่องมือยกร่องปลูกอ้อย เพื่อให้เอื้อต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยกำหนดระยะห่างระหว่างร่อง 1.85 เมตร และยกร่องให้มีลักษณะเป็นสันที่ความสูง 15-20 เซนติเมตร จากระดับการวิ่งของรถ จะทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกกิจกรรมสามารถวิ่งตามแนวร่องที่กำหนดไว้ และไม่เหยียบย่ำไปบนเบดฟอร์ม ช่วยลดการบดอัดของชั้นดิน และลดความเสียหายจากการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยืดอายุการไว้ตออ้อยได้อีกด้วย
เสา 3 ลดการไถพรวน Minimum Tillage
การทำไร่อ้อยแบบเดิมนั้น ชาวไร่ต้องไถพรวนดินทั้งแปลงก่อนปลูกอ้อยใหม่ แต่แนวทางใหม่ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเราจะไถพรวนเฉพาะเบดฟอร์มที่ยกขึ้นมาเท่านั้น จึงช่วยรักษาโครงสร้างดิน และลดพื้นที่เตรียมดินลงประมาณครึ่งหนึ่ง ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และลดเวลาในการเตรียมดินก่อนปลูกอ้อย งานจะเสร็จเร็วขึ้น จึงสามารถปลูกอ้อยใหม่ได้ทันกับความชื้นในดินที่ลดลง
เสา 4 ตัดอ้อยสดไว้ใบคุลมดิน Trash Blanket
การตัดอ้อยสดและไว้ใบอ้อยคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ และช่วยควบคุมวัชพืชไปในตัว จึงลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลงได้โดยปริยาย และยังช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากใบอ้อยจะสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับอ้อยรุ่นต่อไป นอกจากนี้ การไม่เผาใบอ้อยยังช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินเอาไว้ได้
น้ำ สูตรเติมเต็มสู่ความยั่งยืน Irrigation
ตัวเสริมสำคัญ คือ “น้ำ” การชลประทาน (Irrigation ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การปลูกอ้อยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปกติอ้อยต้องการน้ำ ประมาณ 1,200-1,600 มิลลิเมตรต่อปี แต่สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปริมาณฝนไม่เพียงพอ และยังกระจายตัวไม่สม่ำเสมอทำให้อ้อยกระทบแล้งแทบทุกปีโดยเฉพาะในช่วงที่ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบด้านภูมิอากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างน่าตกใจ การเตรียมเรื่องชลประทานตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จะช่วยทำให้การจัดการน้ำ มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
และนี่คือ Amazing สี่เสาพลัสของการทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม อยากรู้ว่า Amazing อย่างไร ลองเปิดใจแล้วนำไปปฏิบัติจริงกันนะคะ