หน้าแรก

การทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จนั้นยาก แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยากไม่แพ้กันคือการส่งต่อความสำเร็จไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ต่างพากันหันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร แต่สำหรับ คุณณัฐ ณัฐพล สุภาพเพชร ทายาทของ พ่อพิมล สุภาพเพชร มิตรชาวไร่คนเก่งจากบ้านหนองแซง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หัวเรือใหญ่ของกลุ่ม “หนองแซงโมเดล” ที่วันนี้กำลังก้าวขึ้นมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อสานต่อความสำเร็จจากพ่อด้วยวัยเพียง 24 ปี

(14)

“ผมอยู่กับพ่อ เห็นงานในไร่มาตั้งแต่จำความได้ สมัยเด็ก ๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ตามพ่อไปไร่ ไปดูพ่อทำงาน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ชอบงานในไร่เลยครับ ระหว่างนั้นก็เรียนหนังสือในโรงเรียนสายสามัญตามปกติ จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลับมาอยู่บ้านก็เริ่มมานั่งคิดแล้วว่า จะไปเรียนต่อหรือจะทำไร่ดี ก็ปรึกษาพ่อกับแม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนแรกพ่อกับแม่ก็อยากให้เราเรียนต่อแต่สุดท้ายผมก็เลือกที่จะมาจับงานไร่เป็นชาวไร่เหมือนพ่อ ผมมองว่างานชาวไร่มันอิสระ ไม่ต้องมานั่งทำตามคำสั่งใคร ได้อยู่กับบ้าน ที่สำคัญคือ งานไร่นี่มันเป็นของของเราจริง ๆ พอได้มาเริ่มทำเองจริง ๆ จัง ๆ ถึงรู้ว่ามันคืองานที่เรารัก”

(13)

คุณณัฐเริ่มเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจมาเป็นชาวไร่ ตั้งแต่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านมาถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 7 ปีเต็มแล้ว ที่เจ้าตัวได้เรียนรู้ศึกษางานในไร่อย่างจริงจัง โดยมีโค้ชคนสำคัญก็คือ พ่อพิมล สุภาพเพชร

(12)

“งานแรกที่พ่อให้เริ่มทำจริง ๆ จัง ๆ คือให้ไปปั่นดินทำหน้าดิน เตรียมแปลง สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมากมายเท่าเดี๋ยวนี้ งานในไร่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ช่วงปีแรก ๆ ที่เริ่มทำก็เหนื่อยมาก มีบางช่วงที่ผมท้อไปเหมือนกัน แต่พอผ่านปีแรกไปได้ ปีต่อ ๆ มามันจะสบายขึ้นทุกปี มีเรื่องเครื่องมือ วิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาช่วยแบ่งเบาเรา”

(11)

ด้วยวัย 24 ปี คุณณัฐก้าวเข้ามาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อพิมล ช่วยกันรับผิดชอบดูแลอ้อยในพื้นที่กว่า 700 ไร่ที่ให้ผลผลิตมากกว่า 10,000 ตันต่อปี ซึ่งเจ้าตัวก็เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างในการทำงานระหว่างตัวเองกับพ่อให้เราฟังว่า

(10)

“เรื่องงานในไร่ ความรู้เรื่องอ้อย ผมยังสู้พ่อไม่ได้ ผมอาศัยการซึมซับประสบการณ์ต่าง ๆ จากพ่อไปเรื่อย ๆ ผมจะถนัดเรื่องงานเครื่องจักรมากกว่า หน้าที่หลักของผมคือดูแลเครื่องมือในการทำไร่อ้อย ตอนนี้ก็มี รถกล่อง 6 คัน รถตัด 3 คัน รถไถใหญ่ 2 คันรถไถเล็ก 2 คัน ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนอะไรเพิ่มแล้วก็ยังมีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผมก็จะเอามาบอกพ่อเหมือนกัน”

(9)

สำหรับเรื่องการใช้เครื่องมือสมัยใหม่นี้ คุณณัฐบอกว่าได้รับการสนับสนุนจากทางโรงงานมิตรผล ที่จะจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งคุณณัฐก็ลงไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนตอนนี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องมือประจำไร่อ้อยของตัวเองไปโดยปริยาย

(8)

“เรื่องเครื่องมือเครื่องจักรนี่ล่ะครับที่คนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนรุ่นพ่อ ปัจจุบันมีเครื่องมือมาช่วย ในอนาคตเครื่องมือพวกนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นอีก ซึ่งเรื่องการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ทางมิตรผลก็เข้ามาช่วยดูแล มีจัดอบรมอยู่ตลอด ผมก็พาลูกน้องไปด้วยจากที่เมื่อก่อนเขาต้องใช้แรงตัวเอง ตอนนี้ก็ให้เปลี่ยนมาดูเรื่องเครื่องจักรเครื่องยนต์แทนก็สบายขึ้น ทุกวันนี้ผลผลิตในไร่อยู่ในระดับที่น่าพอใจตามที่เราตั้งเป้าไว้ครับ ปีหนึ่งก็อยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าตันเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ประมาณไร่ละ 13-14 ตัน ถ้าเป็นอ้อยใหม่ก็ได้ ไร่ละ 18-20 ตัน ส่วนอ้อยตออยู่ที่ราว ๆ ไร่ละ 13-14 ตัน”

(7)

ด้วยพื้นที่กว่า 700 ไร่ ไม่ใช่งานง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างคุณณัฐแน่นอน หากขาดผู้นำทางที่มีประสบการณ์อย่างพ่อพิมลคอยถ่ายทอดวิชาในไร่ให้กับลูกชาย ทั้งความรู้เรื่องอ้อยและหลักการทำงานในฐานะของการเป็นนายคน

(6)

“สิ่งที่พ่อสอนผมอยู่เสมอคือ เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำไร่ต้องรู้จักเวลา ต้องทำงานให้ทัน เพราะงานไร่มันมีเวลาของมันเวลาใส่ปุ๋ยต้องทำช่วงนี้ เวลาฉีดยา เวลาบำรุงดิน ทุกอย่างมันมีกำหนดเวลาชัดเจนของมันหมด ถ้ามันตรงตามกำหนดเวลาที่เราวางไว้ต้นทุนก็จะไม่สูงผลผลิตก็จะดี”

(5)

นอกเหนือจากไร่ของตัวเองแล้ว ครอบครัวสุภาพเพชรยังเป็นเรี่ยวแรงหลักในการรวมกลุ่ม “หนองแซงโมเดล” ที่ทางมิตรผลเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำบนหลักการ “ร่วมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับ ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในกลุ่มปีละเกือบร้อยล้านบาท ซึ่งคุณณัฐเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มและได้เล่าถึงการทำงานร่วมกันในกลุ่มให้เราฟังว่า

(4)

“ในกลุ่มหนองแซงโมเดลทุกวันนี้เวลามีประชุมรวมกลุ่มกันผมก็จะไปกับพ่อทุกครั้ง ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำไร่ว่าของแต่ละคนตอนนี้เป็นอย่างไร เรื่องการเอารถเอาเครื่องมือไปช่วยกันก็ยังทำอยู่ บางทีรถไถเล็กเราปั่นดินใส่ปุ๋ยไม่ทัน เห็นของสมาชิกกลุ่มมีว่างอยู่ก็ขอแรงมาช่วยกัน”

(3)

ด้วยประสบการณ์ทำไร่ที่ยังไม่มากเท่าสมาชิกคนอื่น ๆ ทำให้คุณณัฐไม่หยุดที่จะเรียนรู้ นอกจากจะเรียนรู้งานไร่จากมืออาชีพที่มีความเก๋าอย่างพ่อพิมลแล้ว เจ้าตัวยังหมั่นศึกษาความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ จากอินเทอร์เน็ต เวลาไปเจอคลิปความรู้ที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ก็จะนำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊กอยู่เสมอ

(2)

“ผมทำไร่มาถึงตอนนี้ 7 ปีแล้ว แต่ยังคิดว่ายังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะยังมีความรู้อีกมากที่พ่อสอนไม่ได้ ต้องให้ไปเจอเองต้องใช้เวลาใช้ประสบการณ์ แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนที่อายุเท่ากัน ก็ถือว่าผมเริ่มทำงานเร็ว ผมเหนื่อยมาก่อนเพื่อน ในอนาคตถ้าต้องขึ้นมาดูไร่แทนพ่อทั้งหมด ก็ตั้งเป้าไว้กับตัวเองว่าต้องทำให้สำเร็จไม่น้อยกว่าที่พ่อเคยทำไว้ แต่จะมากกว่าไหม มากกว่าแค่ไหน ต้องไปว่ากันตอนนั้น ส่วนเรื่องกลุ่ม “หนองแซงโมเดล” ผมก็จะต้องพยายามรักษาสมาชิกที่มีอยู่ให้เขาอยู่กับเราไปตลอด แล้วก็ต้องหาคนใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มให้กลุ่มแข็งแรงขึ้น ไม่ให้มันหยุดแค่ที่รุ่นพ่อแม่เท่านั้น”

(1)

นี่คือเรื่องราวของมิตรชาวไร่รุ่นใหม่ที่ชื่อว่า ณัฐพล สุภาพเพชร ที่ค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์การทำไร่ ไปพร้อม ๆ กับปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถือเป็นมิตรชาวไร่ที่น่าจับตามองต่อไปว่าจะสานต่อความสำเร็จที่ผ่านมาและนำพากลุ่ม “หนองแซงโมเดล” ไปได้อีกไกลแค่ไหนในอนาคต

ข่าวปักหมุด