ยุค 4.0 นี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ พัฒนาขึ้นได้ตลอดเวลาจริง ๆ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ เกิด Startup ตัวใหม่ ชื่อ ผัก Done(ดัน) เกิดขึ้นซึ่งคือ กล่องทำปุ๋ยหมัก ที่เก็บเศษอาหารเหลือทิ้งในแต่ละวัน โดยคนคิดค้นกล่อง คือคุณอรสรวง บุตรนาค และ คุณธนกร เจียรกลมชื่น มีเป้าหมาย “อยากทำให้อาหารเหลือทิ้งในแต่ละวันมันมีคุณค่า” “อยากให้คนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อขยะ” “อยากให้รู้ว่าขยะ คือ ทรัพยากรที่จะช่วยเราสร้างอาหารขึ้นอีกครั้งได้”
กล่องทำปุ๋ยหมัก ผัก Done เกิดจากเวทีประกวด โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change โครงการส่งเสริมผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ของไทย โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 7 (Banpu Champions for Change 7) ซึ่งผู้คิดค้นมองว่า ขยะเป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้ แต่การแก้ปัญหาและการกำจัดขยะเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังมาก และที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เอื้อให้สร้างนิสัยการแยกขยะ และนำขยะกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เจ้าของผลงานทั้งสองจึงอยากให้ทุกคนเห็นสิ่งที่เขาเห็น กลัวผลกระทบของขยะ และร่วมลงมือแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผ่านธุรกิจเพื่อสังคมของผัก Done โดยเริ่มรณรงค์ให้คนเห็นว่าสามารถกำจัดขยะได้ในทุกครัวเรือนโดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง ทุกคนสามารถมีหน้าที่รับผิดชอบสังคมนี้ได้ผ่านเพียงแค่เรื่องของการกำจัดขยะในแบบที่ถูกต้อง และได้ประโยชน์จากขยะ
หลักการง่าย ๆ เพียงแค่เราทิ้งขยะอินทรีย์ (เศษอาหารทั้งเนื้อสัตว์ กระดูก ผักผลไม้) ลงกล่องแล้วคลุกเคล้ากับ Compost Starter (ส่วนผสมของดินใบก้ามปู กากกาแฟ ปุ๋ยคอก ดินถุง และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ทำหน้าที่ดูดซับความชื้น สามารถย่อยเป็นปุ๋ยได้) และโรยน้ำตาลเล็กน้อย จนเมื่อขยะเต็มกล่องก็ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เป็นอันใช้ได้ (คอยตรวจเช็คราวสัปดาห์ละครั้ง พร้อมคลุกเคล้า หากพบว่าชื้นเกินไปก็เพิ่ม Compost Starter และโรยน้ำตาลอีกเล็กน้อยเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น
ภายในกล่องจะมีท่อ นั่นคือ ช่องให้อากาศถ่ายเท เพื่อไม่ให้ขยะที่หมักชื้นเกินไปและไม่เน่าส่งกลิ่นเหม็น ระหว่างการหมัก เปิดดูจะพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้น และมีราขาว ถือว่าปกติ แต่ถ้าเหม็นเน่าก็ต้องเพิ่ม Compost Starter พอครบเดือนดูว่าปุ๋ยหมักที่เราทำเองใช้ได้หรือไม่ ดูตรงที่ สภาพความเป็นขยะเศษอาหารไม่มี ยกเว้นกระดูก หรือเปลือกไม้ที่ย่อยยาก มีอุณหภูมิปกติ และส่งกลิ่นคล้ายไอฝน เหมือนกลิ่นดินในป่า
ช่างเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าชื่นชมในความพยายามลดขยะในบ้านเมืองของเรานะคะ เอาเป็นว่าหากมิตรชาวไร่ท่านใดสนใจ ลองนำไปดัดแปลงใช้ในครัวเรือนของเราได้นะคะ เผื่อจะได้ปุ๋ยหมักมาใช้เพิ่มเติมในไร่อ้อยต่อไป
ขอบคุณที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000093507