หน้าแรก

จากแถลงการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เมื่อช่วงที่ผ่านมา อีกไม่กี่วันมิตรชาวไร่ก็จะเข้าสู่ช่วงตัดอ้อยเข้าหีบ ของฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำคือการวัดค่าความหวานของอ้อย เพราะถ้าค่าความหวานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็จะการันตีได้ว่า อ้อยของเราได้ราคาแน่นอน

สำหรับเรื่องการวัดค่าความหวาน วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีเทคโนโลยีการวัดค่าความหวานแบบล้ำ ๆ มาฝากมิตรชาวไร่ค่ะ เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ของชาติอื่นชาติใด แต่เป็นของชาติไทยทำเอง เจ้าของผลงานมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนวัตกรรมวัดค่าความหวานของอ้อยแบบนำสมัยตัวนี้เรียกว่า “โดรนวัดค่าความหวาน” นั่นเอง

โดรนวัดค่าความหวาน หรือ อากาศยานไร้คนขับตัวนี้ สามารถวิเคราะห์และประเมินผล การผลิต การเก็บเกี่ยว และความหวานของไร่อ้อย ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่รองรับระบบ 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ หนึ่งในการพัฒนา New - S- Curve หรืออุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทย ที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรสูงกว่าประเทศอื่น ๆ การลดต้นทุนการผลิตจึงจำเป็นต้องมีวิธีการแก้ปัญหาในการบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาระบบที่สามารถติดตามและตรวจวัดปริมาณคุณภาพของผลผลิต ในแปลงเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือ AI เข้ามาช่วยจัดการแนวคิดดังกล่าว ผสานกับเทคโนโลยี IOT และ AT จากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรวมกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีศักยภาพสูง และกลุ่มพลังงานชีวมวล ร่วมกันทำงาน

ซึ่งการทำงานของโดรนตัวนี้ รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย การประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions : FPS) กล่าวว่า จะต้องช่วยเกษตรกร ลดต้นทุน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อประเมินความหวานอ้อยนี้ มีราคาต้นทุนต่ำกว่าบริการคู่แข่งในต่างประเทศมากถึง 20 เท่า และมีความหวานแม่นยำมากกว่าบริการปัจจุบันเพียงบวกลบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบริการการตรวจค่าความหวานในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นระบบจัดการด้วยคน คือ เก็บตัวอย่างด้วยมนุษย์ ซึ่งมีความผิดพลาดถึงร้อยละ 40 แต่หากใช้ระบบ FPS ซึ่งเป็นการนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ที่พัฒนากับซอฟต์แวร์ภาพถ่ายดาวเทียมของเอกชน นำมาวิเคราะห์ค่าความหวาน การเติบโตของพืช การวิเคราะห์โรคพืช โดยนักวิชาการจากม.ขอนแก่น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลไร่อ้อยเป็นแสน ๆ ไร่ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ

ที่สำคัญคณะทำงานของโครงการ " ที่ปรึกษาทุกปัญหาเรื่องไร่ : Field Practice Solutions (FPS) ” มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อยในมาตรฐานระดับนานาชาติเท่านั้น แต่อากาศยานไร้คนขับนี้นับเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI) สำหรับการเกษตรเพื่อรับปรึกษาเรื่องไร่อย่างครบวงจรด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถวิเคราะห์เชิงลึกว่า โรงงานน้ำตาลจะใช้เครื่องจักรกี่ตัวที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด คำนวนพื้นที่ใส่ปุ๋ย บ่งชี้โรคพืชโดยอัตโนมัติ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และ AI ที่กำลังมาถึง โดยมีแนวโน้มว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกอ้อยและจัดการอ้อยเป็นร้อยไร่ได้เพียงคนเดียว ทั้งนี้หากผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อที่ หัวหน้าโครงการที่หมายเลขโทรศัพท์ 099-4200594

ขอบคุณข้อมูล

https://mgronline.com/qol/detail/9620000073858

https://siamrath.co.th/n/96692

ข่าวปักหมุด