- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- อ., 19 ก.พ. 62
เชื่อว่ามิตรชาวไร่หลาย ๆ คน คงมีชีวิตในวัยเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น อยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่คอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และดูแลเรา แทนพ่อกับแม่ที่ต้องทำงานหารายได้ จนในบางครั้งหลาย ๆ คนก็จะติดปากเรียกท่านว่าพ่อ หรือแม่ด้วยซ้ำ
ในขณะที่เราเติบโตขึ้น มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านก็แก่ชราลงทุกวันเช่นกัน ร่างกายที่อ่อนแอลง เต็มไปด้วยความเสื่อมสภาพต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านปัญหาสุขภาพและสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต บุคคลในครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ จำเป็นต้องเข้าใจปัญหา เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสม
กรมอนามัยเปิดเผยว่า ประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมาก โดยกลุ่มอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 5 ต่อปี กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มด้วยอัตราสูงมากกว่าร้อยละ 6 ต่อปี คาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์" ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงอายุระดับสุดยอด" ขณะที่ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35 ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน ร้อยละ 7 เคยหกล้มภายในบ้าน มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันเลือดสูง มากกว่าร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุวัยปลาย เป็นโรคเบาหวาน และมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้สูงอายุวัยปลาย มีฟันไม่ครบ 20 ซี่ ขณะที่ร้อยละ 56 มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราต้องมีการตื่นตัว และมีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจะได้ดูแลคนที่เรารักและรักเรา แล้วจะมีแนวทางอย่างไรบ้างเพื่อที่จะดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเราให้ท่านได้มีความสุขทั้งกายและจิตใจ
กินอิ่ม : จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคือการกินได้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่รับประทานอาหารได้น้อยลง เนื่องจากอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลง โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดเฟ้อ รวมถึงปัญหาช่องปากและฟัน ส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด นอกจากนี้ผู้สูงวัยมักดื่มน้ำน้อย และขาดการออกกำลังกาย จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุจึงควรเป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย อาจใช้การหั่น สับ หรือการปั่นให้อาหารชิ้นเล็ก รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีปรุงเป็นการนึ่ง ตุ๋น หรือ ต้มอาหารให้นิ่ม เน้นการรับประทานผักผลไม้ที่รับประทานง่ายและไม่หวานจัด เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับวิตามินและกากใยอาหารอย่างพอเพียง โปรตีนควรเลือกประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว หรือ นม เลี่ยงการปรุงอาหารรสชาติจัดจ้าน ลดหวาน มัน เค็ม รวมถึงดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อย 1-1.5 ลิตรต่อวัน ลดการดื่มน้ำหวาน แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ในช่วยบ่ายหรือเย็นเพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้น
การดูแลสุขภาพ : เนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย จึงจำเป็นมีการดูแลสุขภาพ โดยหากิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้ท่านได้มีการออกกำลังกาย ขยับแขนขา ซึ่งจะช่วยให้อวัยวะในร่างกายแข็งแรงทุกระบบ ตั้งแต่ หัวใจ ปอด ระบบขับถ่าย กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงสมอง นอกจากนี้ยังต้องต้องพาไปตรวจสุขภาพทั้งเรื่องของ หู ตา สุขภาพช่องปาก การตรวจสุขภาพประจำปี และการพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการของโรคประจำตัวต่าง ๆ และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องของการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สภาพแวดล้อม : จัดสภาพแวดล้อมให้สงบ สะอาดถูกสุขลักษณะ มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงดังเกินไป และควรให้ท่านได้ออกมารับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดการจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การลื่น หกล้ม เช่น ลักษณะห้องน้ำ พื้นต่างๆที่อาจเปียกลื่น ทางต่างระดับภายในบ้าน ความสูงของเตียงนอน แสงสว่างในจุดอับต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ท่านได้ดำเนินชีวิตได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น
สังคม : ผู้สูงอายุเริ่มเดินทางเองไม่สะดวก ควรหาโอกาสพาท่านไปท่องเที่ยว รับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยซักถามบ่อย ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ได้พบปะเพื่อนฝูง หรือสังคมภายนอก อย่าปล่อยให้ท่านต้องอยู่คนเดียวเป็นระยะเวลานานๆ ที่สำคัญควรใส่ใจในการ “รับฟัง” ท่านอย่างให้เกียรติ เพราะท่านก็ยังต้องการรู้สึกเป็นที่ยอมรับ และรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าในสายตาของคนในครอบครัว
แม้ผู้สูงอายุจะเคยเป็นคนแข็งแรง แต่เมื่อร่างกายเสื่อมถอยลงจึงเป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลอย่างเอาใจใส่และถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และหากในวันนี้เรายังมีโอกาสได้ดูแล ปูย่าตายาย ซึ่งท่านได้กลายเป็นผู้สูงอายุ ควรรีบทำ เพื่อให้ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในครอบครัวที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความเข้าใจกัน รวมทั้งยังเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลานของเรา เพื่อดูแลกันในยามแก่เฒ่าชราในอนาคตต่อไป
ที่มาข้อมูลและภาพ
https://www.thaihealth.or.th
https://www.pobpad.com
https://www.bangkokhospital.com
https://www.samitivejhospitals.com
https://s.isanook.com/
https://www.matichon.co.th/