หน้าแรก

มิตรชาวไร่ที่เคารพรักคะ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า อ้อยคือพืชที่ทุกส่วนของต้นนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย แต่ความมากมายที่เรารู้กันมายังไม่สิ้นสุดเท่านั้นค่ะ เพราะล่าสุดพี่ใหญ่ของเอเชียอย่างประเทศจีน สามารถนำ “ชานอ้อย” ที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาล มาสร้างเป็นถนนให้รถวิ่งไปมาได้เลยทีเดียว

ซึ่งความเจ๋งนี้ถูกเกิดจากไอเดียวของทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. ในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (bagasse fiber) มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรเป็นที่แรกในประเทศจีน ซึ่งเขตฯกว่างซีจ้วง เป็นฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศ โดยแนวคิดนี้ถูกพัฒนาให้เข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ การคิดค้นนี้ นับเป็นหนึ่งในต้นแบบของการนำแนวคิด BCG หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับยางมะตอยได้

ชานอ้อยทำถนน_1.JPG

กระบวนการนำชานอ้อยมาทำถนนของจีนคือ นำชานอ้อยเหลือทิ้งในโรงงานน้ำตาลมาผ่านกระบวนการบดย่อยด้วยเครื่องจักร ปรับสภาพด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ แล้วแยกเส้นใย จนได้เป็น “เส้นใยชานอ้อย” ที่มีคุณสมบัติในการเป็นวัสดุผสม (Composite Material) กับแอสฟัลต์หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ยางมะตอย” สำหรับการก่อสร้างพื้นผิวจราจร

โดยพื้นผิวจราจรที่มีส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับแอสฟัลต์ที่ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลส และมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานของพื้นผิวถนน ความทนทานต่อสภาพอากาศ และความต้านทานต่อการล้า (fatigue resistance) ได้ดี

นวัตกรรมงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาใช้จริงกับโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่เชื่อมเมืองชินโจวกับเมืองเป๋ยไห่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงถนนเฟิ่งเฉินสาย 4 ในนครซีอาน มณฑลส่านซีแล้วด้วย

นับเป็นมิติใหม่ของการใช้ประโยชน์จากชานอ้อยที่มีความหลากหลาย เป็นการประยุกต์ใช้จุดแข็งของท้องถิ่น (ฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาล) เข้ากับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG ของจีน โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อย และช่วยลดการพึ่งพาการใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับแอสฟัลต์ได้ ที่สำคัญ เป็นการบุกเบิกหนทางใหม่ในการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมุ่งไปสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของรัฐบาลกลางจีนด้วย

และความสำเร็จของประเทศจีนนี่เอง ที่ไทยเราสามารถเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทภาคอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก และยังมีโครงสร้างอุตสาหกรรมคล้ายคลึงกับเขตฯ กว่างซีจ้วง

นอกจากนั้น ทุกภาคส่วนยังอยู่ระหว่างการผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งพลิกโฉมการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะศึกษาแนวทางการวิจัย หรือพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับกว่างซีในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อยเพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ “การเติบโตสีเขียว” (Green growth) และยังนับว่าเป็นการ “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อีกทาง

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.salika.co/

ข่าวปักหมุด