“คิดอยู่เสมอว่าจะกลับมาทำไร่แทนพ่อแม่ จะมาเร็วมาช้า สุดท้ายเราก็ต้องมา เพราะที่นี่คือบ้านของเรา”
คำกล่าวของคุณศุภรัตน์ เรืองเจริญ เถ้าแก่ไร่อ้อยรุ่นใหม่ แห่งบ้านโนนจำปา ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ อดีตวิศวกรสาวจากโรงงานผลิตพลาสติกรายใหญ่ เธอหันหลังให้ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในระบบเอกชน สู่อาชีพชาวไร่ที่เธอเป็นเจ้าของกิจการโดยชอบธรรม
ทีมงานมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีโอกาสได้สัมภาษณ์เปิดใจคุณศุภรัตน์ ถึงที่มาที่ไป และหลักการทำไร่อ้อยแบบฉบับคนรุ่นใหม่ ยอมรับเลยค่ะว่า เธอคือมิตรชาวไร่คนเก่งอีกรายที่น่าจับตามอง
“ไม่ได้รู้สึกกดดัน หรือเครียดอะไรเลยนะคะ เพราะเราอยากกลับมาทำตรงนี้อยู่แล้ว ด้วยความที่พ่อรับราชการครู ไม่มีเวลามาทำงานในไร่ได้เต็มที่ ภาระก็ตกที่แม่คนเดียว ที่บ้านเราทำหลายอย่าง ทั้งรับเหมาขุดดิน รับงานแบล๊คโฮล ไหนจะงานในไร่ แม่คนเดียวดูแลไม่ทั่วถึง พอกลับมาก็รู้สึกว่า ดีแล้วที่กลับมาช่วยที่บ้าน”
“แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ เพราะงานโรงงานเราไม่มีอิสระ ทำงานตามขอบเขตงานของตนเองรับผิดชอบ ส่วนงานในไร่ฟรีมาก เพราะเราเป็นเจ้าของ (หัวเราะ) เราบริหารจัดการเองทุกอย่าง สิ่งที่เหมือนกันคือ ทำงานตามแผนงานเหมือนกัน เนื่องจากเราเป็นนักวางแผนมาก่อน ตอนเป็นวิศวกรก็ทำงานตามแผนงาน วางแผนการผลิตแกลลอนพลาสติก พอมาทำงานในไร่ก็ใช้หลักการทำงานอย่างมีระบบ มีแผนงาน งานจะได้สำเร็จทุกขั้นตอน”
“บริหารงานในไร่ร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ พ่อแม่ปล่อยให้เราจัดการทุกอย่าง ทำงานร่วมกับสามีและน้อง ๆ ตอนนี้เราดูแลอยู่ที่ 300 ไร่ ลองผิดลองถูกกันเอง แม่ปล่อยให้ทำทุกอย่าง ให้เรียนรู้ลงมือด้วยตนเอง สมมติอ้อยแปลงนี้ไม่ดี เราจะรื้อแปลงทำใหม่ เราไปศึกษาการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ทางโรงงานจะให้คำแนะนำ พาไปอบรม ไปดูงาน เมื่อก่อนเราปลูกอ้อยร่องแคบ ใช้รถเล็ก ร่องเล็ก แคบ ทำ 2 ปี รถตัดเข้ามามีบทบาท เราก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถใหญ่ เครื่องมือเพิ่มขึ้น เราได้รถตัดมา ก็ต้องทำให้ตรงเป้าหมาย ต้องเปลี่ยนแปลง รื้อแปลงทำร่องห่าง รองรับรถตัด 100% สามีขับรถไถ น้องชายขับรถตัด เราบริหารเอง ช่วยกันตามหน้าที่ค่ะ”
“ไม่ยากเลยค่ะ ทำไร่อ้อยสมัยนี้สบายมาก เพราะใช้เครื่องไม้เครื่องมือ รถไถ รถตัด มาช่วยผ่อนแรงได้เยอะมาก เมื่อก่อนทำไร่อ้อยต้องอาศัยแรงงานคน ซึ่งตอนนี้หายากมาก ไร่เราเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรับรูปแบบแปลงใหม่ตามที่ไปอบรมมาจากมิตรผล เพื่อรองรับการทำงานของเครื่องจักร งานทุกอย่างไหลลื่นสบาย เป็นไปตามแผน เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา เราก็แค่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์”
“เราทำงานอย่างมีแผน เพราะเชื่อว่า วางแผนดี เริ่มต้นดี ก็ต้องได้สิ่งดี ๆ กลับมา ตั้งแต่หาพันธุ์อ้อยที่ดี จัดรูปแบบแปลงดี รองรับเครื่องจักร ผลผลิตที่ดีก็ตามมาด้วย อะไรที่คิดว่าจะซัพพอร์ตงานในไร่เราได้ เราจะรีบคิด ตัดสินใจ นำสิ่งนั้นเข้ามา ยิ่งคิดเร็ว ทำเร็ว ยิ่งได้ผลเร็ว”
“อยากบอกทุกคนว่า ทำไร่ตอนนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนมาก ถ้าเรารู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ ที่สำคัญการทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ พาไปอบรม ทำให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ มาทำไร่ พ่อแม่เราก็พร้อมเปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อมั่นในตัวลูก ๆ ที่จะนำความก้าวหน้ามาสู่ไร่ ใครมีโอกาสที่จะกลับมา รีบกลับมานะคะ ยิ่งทำเร็ว ยิ่งได้เร็วค่ะ”
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เส้นทางจากวิศวกรโรงงาน สู่เกษตรกรเต็มขั้นของคุณศภรัตน์ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ กับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิต เพียงแค่เราตัดสินใจเลือก และอยู่กับสิ่งที่เลือกด้วยหัวใจ คิด มุ่งมั่น พัฒนา ด้วยทักษะที่เรามี ที่สำคัญอย่าลืมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำไร่ด้วยนะคะ.